1580 จำนวนผู้เข้าชม |
การสูงวัย: การเดินทางแห่งความเชื่อที่ยิ่งใหญ่
มุมมองใหม่ต่อ การสูงวัย ผ่านเลนส์ด้านวรรณกรรมและศาสนศาสตร์
(Maxine Hancock, “Aging as a Stage of the Heroic Pilgrimage of Faith: Some Literary and Theological Lenses for ‘Revisioning’ Age” Crux: A Quarterly Journal of Christian Thoughts and Opinion published by Regent College, Spring 2011.)
Dr. Maxine Hancock
อาจารย์ด้านสหวิทยาการ (Interdisciplinary Studies) และ ศาสนศาตร์ด้านเสริมสร้างจิตวิญญาณ (Spiritual Theology), วิทยาลัยรีเจนต์, ประเทศแคนาดา
ผู้แปล: ดร. เพ็ชรรัตน์ จันทร์แสนวิไล
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรที่กำลังย่างเข้าสู่ผู้สูงวัย เราหลายคนกำลังค้นพบความสลับซับซ้อนของการแก่ตัวในวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาว โดยสัญชาตญาณเราปฏิเสธการชดเชยหลายอย่างในวัฒนธรรมของเรา ที่เป็นเพียงสิ่งละอันพันละน้อยของช่วงที่สำคัญของชีวิต เป็นต้นว่า การไล่ตามความหนุ่มสาวที่ไร้ประโยชน์ การไขว่คว้าความบันเทิงและความหลากหลาย “การแขวนนวม” ของผู้สูงวัยในชุมชนที่ปิดกั้นไว้ด้วยกฎเกณฑ์ ในฐานะคริสเตียน
เรามีสิทธิยอมรับว่า ชีวิตหลังวัยหกสิบห้าปีเป็นช่วงที่ตั้งใจให้มีความหมายที่ลึกซึ้งบางอย่างสำหรับเราพอ ๆ กับชุมชนของเรา และวัฒนธรรมของเราโดยส่วนรวม ถ้าเราจะทำตัวไม่เหมือนกับหลายคนในวัฒนธรรมวัตถุนิยมและยกย่องความสนุกสบาย แล้วต้านอย่างแข็งขันต่อความคิดที่ว่า ช่วงเวลา”หลัง”การพัวพันกับงาน และดูแลครอบครัว เป็นเพียง “กากตั๋ว” ของชีวิต โดยที่ได้ยื่นตั๋วนั้นไปแล้วและการแสดงก็เสร็จสิ้นลงแล้ว เราก็ต้องหาแหล่งที่จะให้มุมมองใหม่ต่อความสูงวัย
ผลของการคิดของเราสำคัญต่อบรรดาผู้คนเช่นข้าพเจ้า ที่กำลังพิจารณาช่วงเวลาหลังเกษียณ ความสำคัญนี้มีความเร่งด่วนมากพอควรเมื่อดูจากช่วงชีวิตที่ยืดไปให้ด้วยการดูแลสุขภาพอย่างดี โภชนาการที่ยอดเยี่ยม และความปรานีของการดำรงชีวิตที่ล้อมกรอบด้วยเงื่อนไขทางศีลธรรมและสังคม ที่ขจัดทางเลือกที่ทำให้ชีวิตสั้นลงออกไประดับหนึ่ง
เราจะขออะไรจากพระเจ้า และเราควรมองความรับผิดชอบและจุดประสงค์ของเราอย่างไรในขณะที่เรากำลังย่างเข้าสู่ช่วงที่บางคนเรียกว่า “วัยที่สาม” ช่วงชีวิตซึ่งถ้ามีสุขภาพดี อาจเป็นช่วงสุดท้ายของหนึ่งในสามของชีวิตของเรา เรื่องนี้มีความสำคัญต่อผู้ที่อยู่ในวัยที่กำลังคำนึงถึงความหมายของช่วงเวลาสุดท้ายของพ่อแม่กับเวลาที่เหลืออยู่ และช่วงเวลาระหว่างวัยกลางคนและก่อนจะเสียชีวิตด้วย ทั้งยังสำคัญต่อคนหนุ่มสาว ซึ่งต้องการแบบอย่างและมุมมองด้านบวก ที่จะให้ความหวังแก่เขาในขณะที่ดำเนินชีวิตไป และวิธีการนึกวาดภาพความสูงวัยที่จะทำให้ทำพันธกิจได้อย่างสัตย์ซื่อ
เราจำเป็นต้องดึงมุมมองที่เป็นจริงจากแหล่งในพระคัมภีร์ที่ลึกซึ้งเรื่องเงื่อนไขความเป็นมนุษย์และความเป็นตัวตนของเรา เพื่อเผชิญกับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอย่างไม่ถอยหลังและเป็นจริง แต่ยังคงความหวังไว้ เปล่าประโยชน์ที่จะนึกวาดภาพความสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสุดท้ายว่า จะง่าย และเราไม่ควรคาดหวังว่า เราหลายคนจะมี “ปีทอง” อยู่มากมาย จากที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็น สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า เป็นเหมือนการเดินทางที่ไต่ไปตามโขดหิน ตรงแน่วขึ้นไปตามแนวหินตรงหน้า แล้วก็ลงไปตามแนวหน้าผาที่ลื่นไถลอีกด้านหนึ่งสู่ที่ ๆ เราจะ “ก้าวข้ามไปอีกฟากหนึ่ง”
เราต้องดำรงอยู่ใน “ข่าวประเสริฐ” อย่างเต็มที่ ที่เราประกาศเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าของเรา เพื่อที่เราจะได้อยู่อย่างเต็มไปด้วยความหวังต่อขอบฟ้าเบื้องหน้าหลังความตายของเรา โดยนัยนี้ เราจึงจะสามารถพบพลังและความสร้างสรรค์ในการดำรงชีวิตอยู่ในช่วงชีวิตนี้ อย่างเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองคริสเตียน ซึ่ง ชีวิตทั้งหลายอยู่ภายใต้การเตรียมการของพระเจ้า ชีวิตมนุษย์ทั้งมวลได้รับสง่าราศีตามพระฉายของพระเจ้า และช่วงชีวิตทั้งหมดของเราจะมีจุดประสงค์และความหมาย
ด้วยบทนำกว้าง ๆ นี้ต่อการอภิปรายที่สำคัญมาก ข้าพเจ้าต้องการพิจารณาถึงวิธีการบางอย่างที่เราอาจตีกรอบใหม่ให้กับการพูดคุยเกี่ยวกับความสูงวัย จากตัวแบบที่ยึดถือผลประโยชน์ปัจจุบัน (ซึ่งเน้นผลทางด้านลบ เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายของการดูแลสุขภาพ ภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงวัย ต่อผู้เสียภาษีและครอบครัว) ไปเป็นความเข้าใจแบบคริสเตียนที่เต็มเปี่ยมมากกว่า ต่อความหมายของความสูงวัยในชีวิตของเราเองและความหมายของผู้สูงวัยต่อชีวิตชุมชนของเรา โดยนัยนี้ ข้าพเจ้าขอให้ดูวรรณกรรมบางอย่างจากครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนจักร[1] อย่าง Richard Baxter, Thomas Brooks และ John Bunyan ได้ให้ตัวอย่างวิธีการแบบคริสเตียนต่อความสูงวัยอย่างไร ซึ่งท้าทายรูปแบบตายตัวหลายอย่างในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมของเขา แล้วข้าพเจ้าก็จะหันไปดูผู้เขียนในศตวรรษที่ยี่สิบและยี่สิบเอ็ดบางคน ที่ให้ตัวอย่างด้านบวกของความสูงวัย ที่มีผู้ซึ่งดำรงชีวิตในรูปแบบสมัยใหม่ ข้าพเจ้าจะปิดท้ายตอนจบโดยสังเขป ด้วย “กรอบ” ด้านศาสนศาสตร์และพระคัมภีร์บางอย่าง ที่เราอาจใช้ในการเสนอความเข้าใจที่อุดมมากกว่าต่อความสูงวัย ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาด้านความเชื่อตลอดชีวิต
การไตร่ตรองในเรื่องการสูงวัยของพวกเพียวริตันในศตวรรษที่สิบเจ็ด
ผู้เขียนเพียวริตันยุคศตวรรษที่สิบเจ็ด ผู้ซึ่งได้เขียนแผนอย่างสัตย์ซื่อทั้งสำหรับช่วงการเดินทางแบบคริสเตียน และการชี้แนะโดยละเอียดสำหรับชีวิตแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่หล่อหลอมการเดินทางของหนุ่มสาวเสียใหม่เท่านั้น แต่ของผู้สูงวัยด้วย โดยวางชีวิตทั้งมวลไว้ภายในการแสวงหาด้านความเชื่ออย่างกล้าหาญ ข้อเขียนของพวกเขา เชื่อมโยงถ้าไม่ใช่อย่างชัดเจน ก็อย่างเป็นนัย ความสูงวัยกับการแสวงหาด้านจิตวิญญาณที่เหลืออยู่ ว่าเป็นช่วงที่พระเจ้าทรงตั้งใจไว้สำหรับพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงแปลงรูปให้เหมือนพระคริสต์ และเป็นเวลาสำหรับการอวยพระพรรุ่นต่อ ๆ มา ในขณะที่นักศาสนศาสตร์แนวปฎิบัติเหล่านี้ วาดภาพความสูงวัยเป็นช่วงซึ่งประกอบด้วยเวลาที่เปี่ยมด้วยความหมาย ที่ไม่ให้สูญเปล่าไป พวกเขาก็ไม่ได้จัดวางให้เป็นเวลาของ “คนที่กระตือรือร้น” ความคิดของ “คริสเตียนที่ยิ่งใหญ่” รวมถึงการเต็มเปี่ยมด้วยความหมายของการ”ไม่ทำ” ของการ”เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเรียบง่าย” ของ”การรอ” ของ “การอดทนที่บากบั่น” แบบที่ John Milton กล่าวไว้ในโคลงซอนเนท (Sonnet) บทที่สิบเก้าชื่อ “ในความมืดบอดของเขา” (On His Blindness)
“พระเจ้าไม่จำเป็นต้องใช้ ทั้งงานและความสามารถของมนุษย์
ผู้ร่วมแบก”แอก” อันเบาของพระองค์
พวกเขาเป็นพันๆร่วมรับใช้ในงานแห่งแผ่นดินพระเจ้าอย่างร้อนรน
ทั้งในแผ่นดินและในมหาสมุทรโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
แต่คนที่เพียงแค่ยืนและรอคอย ก็รับใช้พระองค์เช่นกัน”
วิธีการหนึ่งที่ผู้เขียนศตวรรษที่สิบเจ็ดเหล่านี้ วาดภาพไว้สำหรับการสูงวัย และผู้สูงวัย คือ การตักเตือนโดยตรง การชี้แนะโดยตรงแบบนี้สำหรับ “ผู้สูงวัย (และผู้อ่อนแอ)” เขียนโดยศิษยาภิบาล Richard Baxter ผู้ไม่ปฏิบัติตามศาสนจักรอย่างชัดเจน ใน “สมุดบันทึกเล่มหนึ่งของคริสเตียน” (A Christian Directory (1673)) ด้วยแบบฉบับอันยืดยาวของท่วงทำนองแบบศิษยาภิบาลของเขา Baxter ได้เขียนข้อชี้แนะที่จำเพาะเจาะจงสิบห้าประการไว้ ข้าพเจ้าขอสรุปและทำให้ข้อชี้แนะของเขากระชับขึ้น โดยผนวกความเห็นบางอย่างจากมุมมองศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดของข้าพเจ้าเองเข้าไปด้วย
ข้อชี้แนะ 1: ผู้สูงวัยและผู้อ่อนแอ [ควร] มีความถูกต้องแม่นยำในการตรวจสอบสภาพจิตวิญญาณของเขา และทำให้การทรงเรียกและการทรงเลือกนั้นแน่นอน
ดังนั้น ให้ขอคำปรึกษาจากศิษยาภิบาลที่สัตย์ซื่อ และมีความสามารถ หรือจากเพื่อน และแสวงหาชีวิตนิรันดร์อย่างร้อนรน ทั้งยังหล่อหลอมความรับผิดชอบและดูว่าสรรพสิ่งทั้งมวลเป็นอย่างไร ระหว่างพระเจ้ากับตัวท่าน และถ้าท่านพบว่าตัวเองอยู่ในสภาพที่เปลี่ยนใหม่ ไม่ได้ให้คร่ำครวญต่อบาปของท่าน และโผบินสู่พระคริสต์ และ “ใจจดใจจ่ออยู่กับพระเจ้า” เพื่อความเป็นสุข
ความเห็น: มีการวิพากษ์วิจารณ์สมัยใหม่มากมายเกี่ยวกับการใคร่ครวญแบบพวกเพียวริตัน ในขณะที่การใช้การสำรวจตัวเอง อาจกลายเป็นความกระวนกระวายที่ผิดปกติ หรือ การยึดติดกับตัวตนของการรักตัวเอง แต่เมื่อทำโดยมีศิษยาภิบาลที่มีวิจารณญาณ และ ยึดมั่นพระคัมภีร์ ก็สามารนำไปสู่หลักประกันที่มั่นใจของความรอด โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจด้านจิตวิญญาณของการไถ่บาป และการคืนดีกับพระเจ้า โดยผ่านทางพระราชกิจที่เสร็จสิ้นแล้วของพระคริสต์
การตักเตือนนี้มีสมมุติฐานว่า “ผู้สูงวัย” หรือ “ผู้อ่อนแอ” ได้รับการฝึกในวิธีการสำรวจตัวเอง และเข้าถึง “ศิษยาภิบาลที่สัตย์ซื่อ” หรือ “เพื่อนที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า” และในบริบทที่ ผู้สูงวัยฝังตัวอยู่ในชุมชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในแวดวงของหมู่ผู้เชื่อ
ข้อชี้แนะ 2: ให้หันกลับไปมองดูความบาปทั้งมวลในชีวิตท่าน ....... และแม้ว่าจะได้รับการอภัยไปหมดแล้ว ...... แต่ยังต้องแน่วแน่ต่อหน้าต่อตา เพื่อให้ท่านยังคงถ่อมตนและกลับใจต่อไป และผลักดันท่านสู่พระคริสต์ และทำให้ท่านรู้สึกขอบพระคุณ
ความเห็น: การทบทวนความบาปในอดีตที่ได้รับการอภัยแล้ว ดูจะเป็นแบบฝึกหัดที่คลุมเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับความหวาดระแวง และความกระวนกระวายในผู้สูงวัยที่มีอยู่ Baxter อาจหนุนใจผู้สูงวัยคริสเตียนได้ดีกว่า โดยให้บอกปัดเสียงข้อผู้กล่าวหาใน โรม 8: 28 -39 และ อิสยาห์ 43:25 อย่างไรก็ตาม เราอาจปกป้อง Baxter ด้วยการดูตัวอย่างของอาจารย์เปาโลที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าท่านได้ข่มเหงคริสตจักรมาก่อน (1 โครินธ์ 15: 9-10, ฟิลิปปี 3: 6, กาลาเทีย 1:13)
ข้อชี้แนะ 3: ให้ยึดติดใกล้ชิดกับพระคริสต์มากยิ่งขึ้นกว่าก่อน ......... ตอนนี้ ชีวิตตามธรรมชาติกำลังผุพัง ได้เวลาที่จะกลับคืนสู่พระองค์ที่เป็นรากแท้ และมองดูที่ “ชีวิตที่ซ่อนอยู่กับพระคริสต์ในพระเจ้า” โคโลสี 3: 4 และ ที่พระองค์...... ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่จะรับวิญญาณที่กำลังจากไปของผู้เชื่อที่แท้จริง
ความเห็น: ณ ที่นี้ Baxter สำรวจจากมุมมองแบบคริสเตียน ที่ความเหมือนแบบดั้งเดิม ของ น้ำหล่อเลี้ยงกลับคืนสู่รากของต้นไม้ ให้เป็นภาพของการสู่ความสูงวัย ในความเหมือนแบบดั้งเดิมนั้น ประเด็นอยู่ที่ “ความเป็นธรรมชาติ” ของความตาย ในการจัดสรรของ Baxter ชีวิตที่เหนือธรรมชาติของพระคริสต์ เป็นรากที่คริสเตียน “กลับคืนสู่” ความสูงวัยจึงกลายเป็นเวลาสำหรับการทำให้ความเชื่อเรียบง่ายและชัดเจนขึ้น สำหรับการอยู่อย่างเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสต์ อย่างที่เราจะได้เห็น Bunyan ก็ได้กล่าวถึง ระยะสุดท้ายของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบคริสเตียน ที่ผู้สูงวัยคริสเตียนมากมายไปถึง โดยการอยู่ด้วยความชื่นชมยินดี อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างสนิทกับพระคริสต์
ข้อชี้แนะ 4: ให้ความเมตตาปรานีดั้งเดิม และ ประสบการณ์ในความรักของพระเจ้า ตลอดชั่วชีวิตของท่าน แน่วแน่อยู่ต่อหน้าต่อตาท่าน และสดอยู่ในความคิดอ่านของท่าน เพื่อให้ท่านลุกโชติช่วงด้วยความรักและการขอบพระคุณพระเจ้า ทั้งยังหล่อเลี้ยงความยินดี และ ความสบาย ของท่านเอง และช่วยให้ท่านยอมรับความอ่อนแอในอนาคตและความตายได้ง่ายขึ้น....... ถ้านักเดินทางยังยินดีพูดคุยถึงการเดินทาง และทหาร หรือ กลาสีเรือ ถึงการผจญภัย จะยิ่งหอมหวานเพียงใดที่คริสเตียนจะตรวจทานความเมตตาปรานีที่ได้รับตลอดชีวิตของเขา ....... ใช่แล้ว การทบทวนด้วยความขอบพระคุณอย่างนั้นต่อความเมตตาปรานีดั้งเดิม จะบังคับให้วิญญาณที่ไร้เดียงสาไปสู่การยินยอมที่สงบกว่าต่อการเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความตาย และทำให้เรากล่าวอย่างซีโมนว่า “โอ พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงให้ผู้รับใช้ของพระองค์จากไปอย่างสงบ”
ความเห็น: ในข้อความที่มีค่ามากนี้ Baxter กล่าวถึง (1) ความสำคัญของเรื่องราวชีวิตสู่ความทรงจำและเอกลักษณ์ (2) ความสำคัญของการรู้คุณ และ (3) คริสเตียนที่ยิ่งใหญ่ สองข้อแรกยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในการพิจารณาเกี่ยวกับทัศนคติและองค์ประกอบที่สำคัญต่อ “ความสูงวัยที่ดี” หรือ “การตายดี” ข้อที่สามนั้นเป็นความพร้อมสำหรับการฟื้นคืนอย่างสมบูรณ์ของศัพท์แสงเรื่องความสูงวัยของเรา
ข้อชี้แนะ 5: ให้นำสมบัติแห่งปัญญาและประสบการณ์ ที่ท่านสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว มาชี้แนะผู้ไม่รู้ และเตือนผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ และห่างไกลจากพระเจ้าในส่วนที่เกี่ยวกับท่าน บอกเขาว่า พระเจ้าทรงกู้ท่านอย่างไร และพระวิญญาณได้หล่อหลอมวิญญาณท่านอย่างไร บอกเขาว่า ท่านพบความสุขสบายอะไรในองค์พระเจ้า ความปลอดภัยและความหอมหวานอะไรในชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงอ่อนหวานต่อท่านอย่างไร คำอธิษฐานมีชัยอย่างไร พระสัญญาของพระเจ้าสำเร็จลุล่วงอย่างไร และ ความเมตตาปรานี การปลดปล่อยอะไรบ้างที่ท่านได้รับ บอกเขาว่าท่านพบว่าพระเจ้าดีอย่างไร และบาปไม่ดีอย่างไร และท่านพบว่าโลกนั้นว่างเปล่าอย่างไร......... พระเจ้าทรงทำให้สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของผู้สูงวัย ที่ “บรรพบุรุษจะเล่าเรื่องการอัศจรรย์และความเมตตาปรานีของพระองค์ให้ลูกหลานฟัง เพื่อให้รุ่นต่อ ๆ ไปสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” เฉลยธรรมบัญญัติ 4: 10, สดุดี 78: 4 – 6
ความเห็น: แบบเดียวกับข้อชี้แนะก่อนหน้านี้ ข้อชี้แนะนี้ทึกทักก่อนว่า ผู้สูงวัยมีความทรงจำที่ชัดเจน พร้อมทั้งความเต็มใจและความสามารถที่จะเล่าเรื่องราวตามลำดับก่อนหลังและเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจทำได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนจักรในยุคศตวรรษที่สิบเจ็ด ที่ได้รับการหนุนใจให้เล่าเรื่อง ด้วยปากเปล่า และด้วยการเขียน เกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อวิญญาณของเขา มากกว่าผู้สูงวัยในวัฒนธรรมสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ และยังทึกทักก่อนว่า มีผู้ฟัง นั่นคือใครบางคนที่ต้องการได้ยินเรื่องราวของผู้สูงวัย นี่ชี้ให้เห็นโดยนัยว่า ผู้สูงวัยยังเชื่อมโยงอย่างสำคัญและมีคนเห็นคุณค่าพวกเขาในแวดวงผู้เชื่อและชุมชนเพียงใด
ข้อชี้แนะ 6: ผู้สูงวัยต้องเป็นตัวอย่างแห่งปัญญา ความจริงจัง และความศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้เยาว์วัย ...... อาจเป็นที่คาดหวังว่า จะไม่มีอะไรนอกจากเสน่ห์ ความฉลาด และความศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้นที่จะออกมาจากปากท่าน และไม่มีอะไรที่ดูว่าจะไม่ฉลาด และห่างไกลจากพระเจ้า ในชีวิตของท่าน
ความเห็น: นี่ก็เช่นกัน การควบคุมตัวเองที่มีความสมดุล เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่เสมอไปในผู้สูงวัยมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ประสบกับเรื่องความจำเสื่อม คำว่า “ต้อง” เป็นหน้าที่ซึ่งจำเป็นต้องยกเว้นเมื่อความคิดจิตใจมีความชราภาพ “ปัญญา ความจริงจัง และความศักดิ์สิทธิ์” อาจไม่ประสบความสำเร็จเลย สิ่งที่เราหวังได้คือ ความเข้าใจและความรัก และผู้ที่จะจดจำตัวเราไว้ได้ก่อนการเริ่มถดถอยในระยะสุดท้ายของเรา
ข้อชี้แนะ 7: โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว เป็นเรื่องของท่านที่จะระงับความรุ่มร้อน การแบ่งแยก การชอบทะเลาะ แนวโน้มของการติเตียน ของผู้ร้อนรนในพระเจ้าที่เยาว์วัยกว่า พวกเขากำลังเลือดร้อน และต้องการความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่จะนำทางความกระตือรือร้นของเขา......... พวกเขาไม่เคยมองเห็นประเด็นความผิดพลาด นิกาย และพรรค อีกทั้งสิ่งที่การแบ่งแยกเป็นส่วนต่าง ๆ และการดิ้นรนต่อสู้มักนำไปสู่ อย่างที่ท่านเคยทำมา ดังนั้น จึงเป็นความจริงจัง และประสบการณ์ของท่านที่จะเรียกร้องความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสันติ เพื่อกันพวกเขาจากภาพลักษณ์ความรุ่มร้อนในคริสตจักร
ความเห็น: ผู้สูงวัยในฐานะเสียงที่บรรเทาชุมชนที่ดิ้นรนต่อสู้ เพิ่มความสำคัญที่จำเพาะเจาะจงให้การรวมตัวกันที่กำลังมีขึ้น ในการถกเถียงและเรื่องราวของแวดวงผู้เชื่อ
ข้อชี้แนะ 8: ท่านต้องมีชีวิตโดยเกลียดชังที่สุดต่อสิ่งของทางโลก และเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุดกับความรักในโลก หรือ ความยุ่งยากลำบากที่ไม่จำเป็นทางโลก ท่านจะเป็นแบบที่ต้องการมันแต่ใช้มันชั่วขณะหนึ่ง เพียงแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เพียงพอสำหรับคนที่เข้าใกล้จุดจบของการเดินทาง.......... เป็นสัญญาณของพลังการร่ายมนต์ทางโลก........ ที่มองดูผู้สูงวัยโดยทั่วไปว่ายังโลภแบบผู้เยาว์วัย และเป็นผู้ทุ่มสุดตัวที่จะรักอย่างเสน่หา และไขว่คว้ามาอย่างกระหาย ราวกับว่าไม่เคยคิดที่จะจากไปเลย
ความเห็น: “พลังการร่ายมนต์ทางโลก” นี้ ดูจะเป็นความกังวลโดยทั่วไปของศิษยาภิบาลที่อยู่ท่ามกลางผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนจักร ความเป็นจริงด้านประวัติศาสตร์คือ “การข่มเหง ความกดดันทางสังคม และ ความจูงใจของการได้เปรียบกำลังกัดกร่อนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนจักรอย่างสม่ำเสมอในด้านสมาชิกที่อุดมสมบูรณ์และเด่นชัด พวกที่ไม่อาจเปลี่ยนใจได้ ผู้ที่ได้พิสูจน์ความจงรักภักดีแล้วด้วยการจองจำครั้งแล้วครั้งเล่าและอันตรายของการทำลาย คือคนธรรมดาทั่วไปที่อยู่ในตำแหน่งที่เจียมเนื้อเจียมตัวทางสังคม และไม่มีความหมายในสายตาของผู้ยิ่งใหญ่” เมื่อจบตอนที่หนึ่งและสองของ The Pilgrim’s Progress, Bunyan แสดงให้เห็นผู้แสวงหาคนหนึ่ง ที่เผชิญกับการทดลองในรูปแบบของ “ฟองสบู่สาว” (Mistress Bubble) ในตอนที่หนึ่ง และ “เวทย์มนต์สาว” ในตอนที่สอง ตัวความชั่วร้ายเพศหญิงเหล่านี้ กล่าวย้ำถึงการทดลองทั้งมวลของ งานชุมนุมความไร้สาระ (Vanity Fair) ด้วยการดึงดูดใจทางโลกีย์ที่เกือบทำให้ผู้แสวงหาไขว้เขวไป เห็นได้ชัดว่า ศิษยาภิบาลยุคศตวรรษที่สิบเจ็ด ในฐานะที่เป็นนักศาสนศาตร์แนวปฏิบัติ มองเห็นความคิดจิตใจที่ตกต่ำของเราว่ายังคงหวั่นไหวง่ายต่อการดึงดูดใจด้านวัตถุและข้อได้เปรียบทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการทดลองเหล่านั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมด้านเพศ หรือกิริยาท่าทาง ซึ่งใช้บรรยายได้ใกล้เคียงมากสำหรับการโฆษณาส่วนใหญ่ที่มุ่งไปที่ผู้บริโภควัยกลางคนและที่สูงวัยกว่านั้น
ข้อชี้แนะ 9: ท่านควรเห็นคุณค่าของทุกเวลานาทีอย่างมาก ๆ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอีกเพียงเล็กน้อย แม้ว่าท่านอาจไม่สามารถทำธุรกิจทางโลกเหมือนก่อน แต่ท่านยังมีเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์หลากหลายอย่างที่จะเข้าไปร่วมได้ ความสบายด้านร่างกายอาจเหมาะกับท่าน แต่การอยู่เฉยนั้นร้ายกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมดในตัวท่าน
ความเห็น: มีนัยด้านความกระตือรือร้นอยู่ ณ ที่นี้ ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่าจำเป็นต้องค้านเล็กน้อยเป็นอย่างน้อย ในขณะที่โดยทั่วไปแล้ว อาจเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่มีอะไรที่มีความหมายที่จะทำตราบเท่าที่เป็นไปได้ ความคิดที่ว่า คนเราควรยุ่งอยู่ทุกเวลานาที แม้ในวัยชรา ทำให้ข้าพเจ้าเหนื่อยหน่าย พอ ๆ กับการร้องเพลงนมัสการเก่า ๆ ที่ว่า “เร่งทำงานด้วยว่าเวลาค่ำกำลังใกล้เข้ามา” แต่ถึงแม้ว่า จะเป็นยาถอนพิษสำหรับภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยว่าไม่อาจทำอะไรได้นอกจากให้คนอื่นดูแลและหาความบันเทิงให้ จะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากกว่าที่จะได้เห็นผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้นที่ทำประโยชน์ต่อครัวเรือน หรือหน่วยชุมชนอย่างมีความหมาย เพื่อนสนิทที่สุดของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ขณะนี้อายุเก้าสิบสาม ยังคงอบขนมปังสีน้ำตาลและขนมปังอบเชยทุกวันเสาร์ เพื่อแบ่งปันกับครอบครัว เพื่อน ๆ และครอบครัวที่คริสตจักร ยังคงมีความทรงจำที่มีชีวิตชีวิตในหลายครอบครัวถึงวันที่ผ่านไปไม่นานนัก ที่ผู้สูงวัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของครัวเรือนของคนรุ่นหนุ่มสาวของครอบครัว โดยช่วยดูแลสวนให้ ช่วยเรื่องทำอาหาร กล่อมเด็กเล็ก และให้ความบันเทิงกับเด็ก ๆ ด้วยการเล่นเกมและนิทาน โดยไม่ต้องหันไปเพ้อฝันแบบพวกวอลตัน เราอาจพิจารณา ทั้งในฐานะผู้สูงวัยและผู้ที่ดูแลผู้สูงวัย ว่าจะหนุนใจอย่างมีความหมายอย่างไร แทนที่จะมีแต่กิจกรรมที่ฆ่าเวลาเท่านั้น
ข้อชี้แนะ 10: เมื่อความเสื่อมของกำลัง หรือ ความจำ หรืออวัยวะบางอย่างทำให้ท่านไม่สามารถที่จะอ่าน อธิษฐาน หรือใคร่ครวญด้วยตัวเองได้ มากหรือดีพอ ๆ กับก่อนหน้านี้ ให้ใช้ประโยชน์จากของประทานที่มีชีวิตชีวาและความช่วยเหลือของคนอื่นมากขึ้น ให้รับฟังคนอื่นมากขึ้น และร่วมอธิษฐานกับเขา เพื่อที่ความทรงจำ ความขยันขันแข็งและการเปล่งเสียงของเขาจะยกชูท่านขึ้นและพยุงท่านต่อไป
ความเห็น: ในข้อนี้ ข้อทึกทักอยู่ที่ว่า ผู้สูงวัย ที่มีภาพลักษณ์ว่าชราภาพมากแล้ว ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งการนมัสการ ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันเป็นรายสัปดาห์ของผู้เชื่อ หรือการอธิษฐานประจำวันของครัวเรือนที่มารวมตัวกัน บางที สมาชิกของคริสตจักรอาจนำคริสตจักรไปยังสมาชิกชราที่เจ็บป่วยอยู่ด้วย (ในรูปแบบของการเยี่ยมเยียน ชุมชนที่ถวายตัว สัมพันธ์กับคำเทศนาที่เพิ่งผ่านไป เป็นต้น)
ข้อชี้แนะ 11: อย่าให้การผุกร่อนของธรรมชาติ......กลายเป็นความผุกร่อนของพระคุณ แม้ว่าความทรงจำ การเปล่งเสียง และ ความอบอุ่นของความรักของท่านอาจลดน้อยลงตามธรรมชาติ แต่อย่าเสียกำลังใจ จงจำไว้ว่า ท่านอาจเติบโตขึ้นในพระคุณด้วยสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ถ้าท่านเพียงแต่เติบโตขึ้นในปัญญาที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ และการตัดสิน อีกทั้งยกย่องพระเจ้าและความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์มากขึ้น ในขณะเดียวกับที่ให้คุณค่าน้อยลงต่อความไร้สาระทางโลก และการยืนหยัดมั่นคงยิ่งขึ้นที่จะยึดเหนี่ยวกับพระเจ้า และวางใจในพระคริสต์ ทั้งยังไม่หันกลับไปทางโลกและความบาปอีก นี่คือความเติบโตของท่านในพระคุณ
ความเห็น: ณ ที่นี้ Baxter ได้กำหนดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเติบโตด้านจิตวิญญาณที่คาดหวังได้ในผู้สูงวัย “ที่ยิ่งใหญ่” เขาได้ให้สี่ด้านที่ผู้สูงวัยอาจมีประสบการณ์กับการเติบโตที่สำคัญ (1) ด้านปัญญาและการตัดสิน (2) ด้านความรู้สึกที่ยกระดับสูงขึ้นกับพระเจ้า (3) ด้านความรังเกียจที่ลึกซึ้งขึ้นสำหรับการวอกแวกทางโลก (4) ด้านความตั้งใจแน่วแน่ที่เกิดขึ้นใหม่ที่จะ “ยึดเหนี่ยวกับพระเจ้าและวางใจในพระคริสต์”
ข้อชี้แนะ 12: จงอดทนต่อความเจ็บป่วยและความไม่สะดวกสบายทั้งมวลของผู้สูงวัย อย่าไม่พึงพอใจกับสิ่งเหล่านี้ อย่าโอดครวญ อย่าหงุดหงิด และอย่าดื้อรั้นกับผู้คนรอบข้างเกี่ยวกับตัวท่าน นี่เป็นการทดลองโดยทั่วไปที่ผู้สูงวัยควรต่อต้านอย่างระมัดระวัง สรรเสริญพระเจ้าสำหรับวันเวลาแห่งความหนุ่มสาว กำลัง สุขภาพ และความสบายที่ท่านได้รับไปแล้ว อย่าขัดข้องใจที่เนื้อหนังซึ่งเน่าเปื่อยได้กำลังผุกร่อนไป
ความเห็น: โดยการเรียกสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการทดลองโดยทั่วไป (ความโลภ และ การหมกมุ่นอยู่กับเรื่องทางการเงิน และการทดลองสู่การอยู่เฉย ๆ ความเมินเฉย และถอยห่างจากการสามัคคีธรรม แล้วทีนี้ก็ถึงการทดลองในการบ่น) Baxter กำลังติดอาวุธให้กับ “นักรบ” คริสเตียนของเขาเพื่อสู้กับ “อุบายของมาร” (เปรียบเทียบกับ เอเฟซัส 6: 11) และเตือนเขาโดยนัยว่า การทดลองเหล่านี้มีอยู่ “โดยทั่วไป” ทั้งในด้านที่มีคนประสบบ่อย ๆ และในด้านที่มีหลายคนประสบอย่างเท่าเทียมกันในสถานการณ์แบบเดียวกัน (เปรียบเทียบกับ 1 โครินธ์ 10: 13)
ข้อชี้แนะ 13: เข้าใจให้ดีว่าการเชื่อฟังอย่างไม่ดิ้นรน เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องท่านในวัยและความอ่อนแอของท่าน และเป็นสิ่งที่ท่านต้องรับใช้และให้เกียรติต่อพระองค์ในบทสรุปของการทำงานหนักของท่าน เมื่อ......การเชื่อฟังอย่างกระตือรือร้นไม่มีโอกาสแสดงตัว........ จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้พอ ๆ กันสำหรับพระเจ้า ที่ท่านจะให้เกียรติพระองค์ด้วยการทนทุกข์อย่างอดทน ดังนั้น จึงเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของผู้ที่ปรารถนาให้คนทั้งมวลที่ไร้สมรรถภาพ เสื่อมด้วยวัย และล้มหมอนนอนเสื่อ พบกับความตาย ราวกับว่าพวกเขาไม่อาจรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่แล้ว ขอบอกว่า การรับใช้ที่เขาอาจทำได้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ไม่เพียงแต่ด้วยการอธิษฐาน และด้วยความรักอย่างลับ ๆ ที่เขามีต่อพระเจ้า แต่ด้วยการเป็นตัวอย่างแห่งความเชื่อ ความอดทน ความคิดอ่านแบบสวรรค์ ความมั่นใจ และความชื่นชมยินดีในพระเจ้า ดังนั้นจงอย่าขัดข้องใจถ้าพระเจ้าจะทรงใช้ท่าน
ความเห็น: ด้วยคำตักเตือนนี้ Baxter เข้าไปถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด ตามความคิดของข้าพเจ้า นั่นคือ มโนคติของความยิ่งใหญ่แบบคริสเตียน ว่าเป็น “การเชื่อฟังอย่างไม่ดิ้นรน” ในคำตักเตือนสุดท้ายของเขา เขามองภาพผู้สูงวัยที่ชราภาพว่า ยังคงเข้าร่วมในการเดินทางของชีวิตแบบคริสเตียนที่ยิ่งใหญ่ ที่ได้รับการทรงเรียกให้สัตย์ซื่อจนถึงที่สุด
ข้อชี้แนะ 14: ให้ความคิดเรื่องความตาย และการเตรียมตัวสำหรับความตาย เป็นเรื่องจริงจังราวกับว่าความตายอยู่แค่เอื้อม แม้ว่าตลอดชีวิต ท่านอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยพอที่จะเตรียมตัวเพื่อความตาย และเป็นสิ่งที่ควรทำทันทีที่ใช้เหตุผลได้ วัยที่สูงขึ้นและความอ่อนแอส่งเสียงดังขึ้นในขณะนี้ให้เตรียมตัวโดยไม่รีรอ ดังนั้น จงทำทั้งหมดที่ท่านจะยินดีที่ได้ทำไปเมื่อความเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายมาถึง
ความเห็น: ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ด้วยกาฬโรคที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และอายุขัยที่สั้นกว่ามาก นักเทศน์จึงกล่าวถึงเรื่องความตาย แต่ครั้งสุดท้ายที่ท่านได้ยิน (หรือเทศน์) คำเทศนาเกี่ยวกับ “การเตรียมตัวสำหรับความตายของท่าน” นั้นคือเมื่อไร ความพยายามของเราที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นความคิดที่เจ็บปวดของการสลายตัวของเราเอง ทำให้เราขาดเพื่อนที่รายล้อมกันและกันในการเตรียมตัวที่จำเป็นนี้ บุตรของพระเจ้าอาจไม่ถอยหนีในขณะที่เผชิญกับความตาย หรือบางทีอาจจะถอยหนี แต่ไม่กลัวและเต็มใจที่จะพูดความจริงต่อกันและกัน
ข้อชี้แนะ 15: ให้อยู่ในความคาดหวังด้วยความชื่นชมยินดีต่อการเปลี่ยนแปลงของท่าน ที่จะกลายเป็นผู้ที่เข้าใกล้สวรรค์เสียเหลือเกิน และรอคอยที่จะอยู่กับพระคริสต์ตลอดไป ให้สิ่งทั้งปวงที่สูงส่งและเปี่ยมด้วยสง่าราศี ซึ่งยึดไว้โดยความเชื่อ แสดงพลังในความรัก ความชื่นชมยินดี และการรอคอยของวิญญาณของท่าน ไม่มีอะไรที่ผู้อ่อนแอและสูงวัยจะถวายเกียรติแด่พระคริสต์และทำดีกับผู้อื่นได้มากกว่า การคาดหวังด้วยความชื่นชมยินดีต่อการเปลี่ยนแปลง และความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะอยู่กับพระคริสต์ นี่จะทำให้ผู้ที่ไม่เชื่อ เชื่อได้มากว่า คำสัญญานั้นจริง และสวรรค์เป็นเรื่องจริง ชีวิตที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ ที่มีจุดจบที่มีความสุขอย่างเหลือล้น เมื่อเขาได้เห็นท่านในภาวะที่สูงที่สุดของความชื่นชมยินดี ในช่วงเวลาที่คนอื่น ๆ ตกอยู่ในห้วงลึกแห่งความเศร้าโศก และเมื่อท่านชื่นชมยินดีในฐานะที่เป็นผู้ที่กำลังเข้าสู่ความสุข เมื่อความสุขทั้งมวลทางโลกมาถึงจุดจบ นี่จะทำอะไรได้มากกว่าคำเทศนาหลายครั้ง ที่จะชักชวนให้คนบาปมาสู่ชีวิตที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้ารู้ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย แต่เป็นสิ่งที่ช่างหอมหวานและเป็นประโยชน์ต่อตัวท่าน และต่อคนอื่น ๆ อย่างมาก ทั้งยังเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และควรเป็นสิ่งที่เราลงแรงทำอย่างขยันขันแข็ง แล้วท่านจะคาดหวังได้ว่า พระเจ้าจะทรงอวยพระพรการลงแรงของท่าน
ความเห็น: Baxter เก็บเสียงแตรที่เป่าร้องให้อยู่อย่างชื่นชมยินดี และบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นข้อชี้แนะสุดท้าย อย่างที่นักเทศน์ที่ดีจะทำ ความหวังที่ทำให้เรายั่งยืนและเรียกให้เราก้าวต่อไปตลอดชีวิตคริสเตียน ในการอยู่อย่างพระคริสต์ ติดสนิทกับพระคริสต์ และอยู่ต่อหน้าผู้ที่ทรงสละเพื่อเราตลอดไปในที่สุด นี่ควรเป็นแนวความคิดของเราขณะที่ความตายใกล้เข้ามา นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกสำหรับวันอิสเตอร์เท่านั้น แต่สำหรับทุก ๆ วัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ “ผู้สูงวัย (และอ่อนแอ)”
ในบทที่สอง เขาได้ให้รายการของเหตุผลที่ว่าทำไม “จึงเป็นเกียรติอันใหญ่ยิ่งที่จะเป็นสาวกที่ยาวนาน”
1. ผู้คนทั้งมวลจะให้เกียรติแก่สาวกอาวุโส (สุภาษิต 16: 3)
2. พระเจ้ามักจะสำแดงพระองค์มากที่สุดต่อสาวกอาวุโส ธรรมิกชนอาวุโส ตัวอย่างเช่น อับราฮัม ผู้ซึ่งมีสัมพันธภาพเก่าแก่กับพระเจ้า ........[และยังมี] สิเมโอน กับ อันนา
3. คริสเตียน และสาวกอาวุโส มีศิลปะของการรับใช้พระเจ้า
4. สาวกอาวุโส คริสเตียนอาวุโส นั้นอุดมด้วยประสบการณ์ฝ่ายจิตวิญญาณ
5. สาวกอาวุโสนั้นมั่นคง และแน่วแน่ในการยืนหยัด
6. สาวกอาวุโสนั้นเตรียมตัวสำหรับความตาย
7. สาวกอาวุโสจะได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ในสวรรค์