ดำเนินโดยพระวจนะ

1409 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดำเนินโดยพระวจนะ

สรุปและบทเรียนจากหนังสือ “ดำเนินโดยพระวจนะ”
(โฮเวิร์ด จี เฮนดริกซ์ และ วิลเลียม ดี เฮนดริกซ์, คริสเตียนศึกษาแบ๊บติสต์, 2000)
โดย น.ส.พัทราพรรณ เสนาวงษ์
 
ภาพรวมของกระบวนการ

     การเรียนรู้ที่จะศึกษาพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง เป็นกระบวนที่ไม่สามารถเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นสิ่งที่เรามักจะกระทำต่อผู้เชื่อใหม่ เมื่อเราบอกให้เขาอ่านพระวจนะ และเราคาดหวังจะให้เขาเริ่มเรียนรู้จากตรงนั้น และรู้ได้ว่ามีผู้เชื่อใหม่มากมายได้ยอมแพ้ในความยุ่งยากนี้

     ภาพรวมของกระบวนการศึกษาพระคัมภีร์ สิ่งแรกคือ มีวิธีใดบ้างในการศึกษาพระคัมภีร์ เมื่อได้ภาพรวมจะนำไปสู่อะไร และเมื่อทำตามวิธีเหล่านี้แล้วเราจะได้พบอะไร

การทำอย่างมีวิธี

     การสังเกต : คุณรับบทบาทของนักสืบพระคัมภีร์ เพื่อไปมองหาปมต่างๆ

     การตีความ : ก่อนที่จะเข้าใจ คุณต้องเรียนรู้ที่จะเห็นเสียก่อน

     การประยุกต์ : ทำพระคัมภีร์ให้ “สัมพันธ์กับชีวิต”

วิธีการคือ การทำอย่างมีวิธี ด้วยท่าทีต้องการเรียนรู้ และเกิดผลโดยการทำความคุ้นเคยกับพระวจนะโดยตรง

 

ขั้นที่ 1 การสังเกต (ฉันเห็นอะไร)

คุณต้องเรียนรู้การอ่าน

     คุณเคยเปิดพระคัมภีร์ของคุณด้วยความขุ่นข้องใจและด้วยความสงสัยไหม คุณสงสัยว่าทำไมคุณจึงไม่ได้รับอะไรเพิ่มเติมจากการศึกษาพระวจนะเลย คุณได้ยินคนอื่นคุยเกี่ยวกับการขุดลึกลงไปเจอขุมทรัพย์และคุณต้องการได้แบบนั้นบ้าง แต่หลังจากทุ่มเทเวลาและพลังงานไปมากมายกับกระบวนการดังกล่าว สิ่งที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยยาก ดังนั้น สุดท้ายคุณจึงเดินหนีไปจากการศึกษาพระคัมภีร์ และคิดว่าคนอื่นอาจได้กำไร แต่ไม่ไช่คุณ

     ประการที่หนึ่ง  คุณไม่รู้จักวิธีอ่าน

     ประการที่สอง  คุณไม่รู้ว่าจะมองหาอะไร

  • เรียนรู้ที่จะอ่านให้ดีขึ้นและเร็วขึ้น อะไรก็ตามที่คุณสามารถกระทำเพื่อเพิ่มพูนทักษะการอ่านให้ดีขึ้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยทักษะการสังเกตให้ดีขึ้น สมมุติว่าคุณต้องการศึกษาหนังสือเอเฟซัส แต่คุณเป็นคนอ่านหนังสือช้าดังนั้นคุณจึงใช้เวลาครึ่งชั่วโมงที่จะอ่านหนังสือเอเฟซัสทั้งหกบท แต่สมมุติว่าคุณเรียนรู้ที่จะอ่านใน 15 นาทีและมีความเข้าใจเป็นสองเท่า ดังนั้นในเวลาเท่ากันคือ ครึ่งชั่วโมงคุณจะเพิ่มประสิทธิผลเป็นสี่เท่า นั่นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียว

     แนะนำหนังสือของ มอร์ติเมอร์ แอ๊ดเล่อร์ ได้รวบรวมเอาทักษะที่ปฎิบัติได้ง่าย เช่น วิธีจัดประเภทหนังสือ วิธีค้นพบเจตนาของผู้ประพันธ์ วิธีเข้าใจโครงร่างหนังสือ และวิธีหาคำหลักบอกถึงวิธีการอ่านหนังสือที่สามารถนำไปปฎิบัติได้ หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นแหล่งความรู้ที่โดดเด่นสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เพราะว่ามันสอนวิธีการอ่านให้แก่คุณ

     อีกเล่มหนึ่งคือ “วิธีการอ่านให้ดีขึ้นและดีขึ้น” (How to Read Better and Faster) ของ นอร์แมน หลุยส์ เป็นหนังสือคู่มือที่ช่วยคุณให้อ่านเร็วขึ้น 50-60 % ได้จริง พร้อมกับเข้าใจได้ดีขึ้นด้วย มีแบบฝึกหัดเกี่ยวกับวิธีการอ่าน รวมถึงวิธีอ่านด้วยความคิดที่ตั้งคำถาม

  • เรียนรู้การอ่านเป็นครั้งแรก เมื่อคุณพบพระวจนะสักตอนแล้วพูดว่า “โอ ผมรู้จักตอนนี้ดีแล้ว” คุณก็กำลังมีปัญหาแล้ว การมายังพระวจนะทุกตอนคุณต้องคิดว่า คุณไม่เคยเห็นมันมาก่อนในชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น นั่นต้องอาศัยวินัยมากทีเดียว คุณต้องฝึกฝนมุมมองและทัศนคติต่อพระคำของพระเจ้า

  • อ่านพระคัมภีร์เหมือนเป็นจดหมายรัก คุณเคยตกหลุมรักไหม เมื่อเราได้จดหมายรักเราก็มักจะอ่านทุกตัวอักษรในทุกๆฉบับ ฉบับละ 4-5 เที่ยว อ่านก่อนนอน เข้านอน ซ่อนไว้ใต้หมอนเพื่อว่าถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกจะสามารถดึงออกมาและอ่านซ้ำๆอีก ทำไมนะหรือ! เพราะว่าตกหลุมรักคนที่เขียนจดหมาย

     ถ้าคุณต้องการเข้าใจพระคัมภีร์คุณต้องเรียนรู้ที่จะอ่านดีขึ้นและเร็วขึ้น และเสมือนว่าคุณกำลังอ่านจดหมายรัก เพียงคิดดูว่าพระเจ้าต้องการสื่อสารกับคุณในศตวรรษที่ 20 และพระองค์เขียนข้อความนั้นในหนังสือเล่มหนึ่ง


อ่านอย่างใช้ความคิด

     มีมากกว่าหนึ่งวิธีที่จะอ่านพระวจนะให้เข้าเงื่อนปมจำนวนมากที่พบในพระคัมภีร์ พระคัมภีร์มีไว้เพื่ออ่านเข้าใจ แต่มีมากกว่าหนึ่งวิธีที่อ่าน

  • อ่านพระคัมภีร์อย่างใช้ความคิด การอ่านอย่างใช้ความคิดเกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้า  เมื่อคุณอ่านพระคัมภีร์จงสวมหมวกนักคิด อย่าทำความคิดให้ว่างเปล่า จงใช้ความคิดต่อการศึกษาพระวจนะให้มาก จงให้ความสนใจต่อพระคำมากพอๆกับที่คุณให้กับสิ่งที่คุณสนใจ คำอุปมาอย่างหนึ่งคือ คุณจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่จะสร้างนิสัย “เคี้ยวเอื้อง” ในฝ่ายวิญญาณ เพื่อคุณจะมีอะไรไว้คิดและเคี้ยว และคุณจำเป็นต้องป้อนข้อมูลความจริงของพระเจ้าลงไปในความคิดของคุณ

อ่านพระคัมภีร์ซ้ำๆ

     อ่านพระคัมภีร์ซ้ำๆ ความเป็นอัจฉริยะของพระเจ้าคือว่า มันทรงพลังเสมอสามารถยืนยันต่อการนำออกมาแสดงซ้ำแล้วซ้ำอีก แท้จริงแล้วนั่นเป็นเหตุผลที่มันไม่เหมือนหนังสืออื่นใด

  • อ่านหนังสือทั้งเล่มโดยไม่ลุกขึ้น ประโยชน์ตรงนี้ คือว่าคุณจะสามารถชื่นชมความเป็นเอกภาพของหนังสือแต่ละเล่ม เป็นเพราะคนส่วนมากพลาดไปเมื่อกระโดดจากตอนหนึ่งไปสู่อีกตอนหนึ่ง พวกเขาไม่ได้สัมผัสความรู้ทั้งหมด สำหรับหนังสืออื่นๆในพระคัมภีร์แต่ละเล่ม คุณจะเห็นความสัมพันธ์ก็ต่อเมื่ออ่านทั้งเล่ม การอ่านรวดเดียวจะช่วยคุณให้สามารถเข้าใจภาพรวมได้

  • เริ่มที่จุดเริ่มต้นของหนังสือ คือหนังสือในพระคัมภีร์ถูกเขียนขึ้นเป็นหน่วย ถ้าคุณตัดมันออกมาเป็นตอนใดตอนหนึ่งมันก็จะเป็นแผล ดังนั้นถ้าบทที่ 7 มีปัญหา คุณก็แน่ใจได้เลยว่า บทที่ 6 และ 8 ก็มีปัญหาเดียวกัน

  • อ่านพระคัมภีร์ในฉบับแตกต่างกัน เป็นทางหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการหลับเมื่ออ่านพระคัมภีร์  เพื่อว่าเมื่อคุณได้รับรสชาติถ้อยคำจากฉบับหนึ่งอย่างลึกซึ้งแล้ว คุณก็อาจลองอ่านอีกฉบับหนึ่งได้ ซึ่งให้ประสบการณ์ของคุณมีชีวิตชีวา และคุณก็จะมีแนวโน้มที่จะสังเกตเห็นสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

  • อ่านพระคัมภีร์ออกเสียงดัง การเข้าไปเกี่ยวพันกับพระวจนะนั้น ไม่มีอะไรเหมือนกับเสียงของตนเอง การอ่านออกเสียงทำให้คุณมีความสนใจต่อคำทุกคำที่คุณอ่าน

อ่านด้วยความอดทน

     อ่านพระวจนะด้วยความอดทน ผลของพระคำต้องใช้เวลากว่าที่จะสุกงอม ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่มีความอดทนน้อยที่สุด ก็จะถอนตัวออกไปเร็วและพลาดการเก็บเกี่ยวอันมั่นคง

  • อยู่กับพระวจนะในระยะยาว ความแตกต่างระหว่างการวิ่งระยะสั่นและวิ่งระยะยาว ในการวิ่งระยะยาว คุณจำเป็นต้องพัฒนาจังหวะการวิ่ง คุณต้องเตียมตัวสำหรับระยะยาว ดังนั้น การอ่านพระคัมภีร์ก็ต้องใช้ความอดทน คุณต้องพัฒนาความทรหดที่ทำให้ต่อสู่ได้ยืนนาน  ต้องมีพลังที่คอยอยู่เพื่อช่วยให้อ่านพระวจนะ

  • มองไกล้และไกล กลวิธีหนึ่งคือ ใช้เลนส์ดึงภาพเข้ามา เริ่มจากมุมกว้างสักมุมแล้วดึงเข้ามาใกล้และดึงออกไป เป็นภาพกว้างโดยการอ่านทั้งหมด มองทิศทางของเหตุการณ์หรือความคิด แล้วจึงดึงภาพเข้ามาเพ่งดูสิ่งที่โดดเด่น หลังจากคุณดึงภาพเพื่อศึกษาเหตุการณ์หรือแนวความคิดหรือคำพิเศษ อย่าลืมว่า คุณต้องดึงภาพออกไปเพื่อจะเห็นภาพรวมอีกครั้ง  แต่ต้องเห็นภาพที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวในเนื้อหาของหนังสือทั้งเล่ม 

อ่านอย่างเลือกสรร 

     อ่านพระคัมภีร์อย่างเลือกสรร การใช้เหยื่อที่ถูกต้องเมื่อคุณดึงพระวจนะเข้ามา นี่คือ หยื่อล่อ 6 อย่าง ที่คุณสามารถใช้ได้

ใคร - ใครเป็นผู้คนในพระคัมภีร์ตอนนั้น อะไรเกี่ยวกับคนนั้นหรือคนเหล่านั้น

อะไร - อะไรกำลังเกิดขึ้นในพระธรรมตอนนั้น เหตุการณ์คืออะไร และมีการลำดับอย่างไร อะไรเกิดขึ้นกับบุคคลต่างๆ

ที่ไหน - ให้ภาพสถานที่แก่คุณ, เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ใด, ผู้คนอยู่ที่ไหนในเรื่องราวดังกล่าว,  พวกเขามาจากไหนพวกเขาจะไปไหน, ผู้เขียนอยู่ที่ไหน อื่นๆ

เมื่อใด - เมื่อใดที่เหตุการณ์ในพระคัมภีร์ตอนนี้เกิดขึ้น เมื่อใดที่ผู้เขียนกำลังเขียน

ทำไม - คำถามว่าทำไมต่อพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่ไม่รู้จบ เช่นทำไมต้องรวมสิ่งนี้ ทำไมมันต้องตามด้วยสิ่งนี้

อะไรต่อไป - เป็นคำถามที่ทำให้เราเริ่มทำบางสิ่งกับสิ่งที่เราได้อ่าน

 

อ่านด้วยใจอธิษฐาน

     อ่านพระคัมภีร์ด้วยใจอธิษฐาน เป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาพระคัมภีร์อย่างเกิดผล จงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการอ่านพระวจนะ

  • อย่าพยายามเลียนแบบคริสเตียนคนอื่น ถ้าคุณฟังคำอธิษฐานของคริสเตียนคนอื่นมากเกินไป คุณจะได้แค่คำสวยหรูที่คนชอบใช้

  • จงเปลี่ยนพระวจนะเป็นคำอธิษฐาน คุณรู้วิธีอธิษฐานไหม เนหะมีย์สำแดงให้คุณเห็นใน เนหะมีย์ 1:4-11 เริ่มด้วยการยกยองเทิดทูน จงดื่มด่ำว่าพระเจ้าเป็นผู้ใดนั้นจะนำคุณไปสู่การสารภาพบาปเพราะว่าคุณจะมองตนเองใรมุมมองที่ถูกต้อง แล้วคุณพร้อมที่จะทูลขอสิ่งที่ต้องการจากพระองค์

 

อ่านอย่างมีจินตนาการ

     อ่านพระคัมภีร์อย่างมีจินตนาการ เหตุผลที่พระวจนะดูน่าเบื่อสำหรับคนมากมายก็เพราะเราเข้ามาหามันด้วยวิธีน่าเบื่อ

  1. ใช้ฉบับแปลและคำถอดความที่หลากหลาย

  2. เขียนถ้อยคำใหม่เป็นการถอดความของคุณเอง

  3. อ่านพระวจนะเป็นภาษาอื่นๆ

  4. ให้ใครสักคนอ่านออกเสียงดัง

 

อ่านแบบใคร่ครวญ

     อ่านพระคัมภีร์แบบใคร่ครวญ นั่นเป็นสิ่งที่ยากเพราะว่าคนจำนวนมากกำลังอยู่ในยุคแห่งความเร่งรีบ ผลก็คือการอ่านพระคัมภีร์อย่างใคร่ครวญไม่เป็นที่นิยมดังนั้น จงใช้เวลาของคุณตอนเช้า ช่วงพักดื่มกาแฟ ช่วงพักกลางวัน ช่วงเข้านอน ในการใคร่ครวญความจริงที่คุณได้ศึกษาพระวจนะ

 

อ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย

     อ่านพระคัมภีร์อย่างมีจุดมุ่งหมาย คือมองหาจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ไม่มีข้อพระคัมภีร์ที่เขียนขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ ทุกข้อมีความหมายและเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้อ่านคือ การค้นหาความหมายนั้นๆ

  1. หาจุดมุ่งหมายในโครงสร้างไวยากรณ์ คำกริยา ประธาน คำขยาย วลีที่เป็นอุปมา คำเชื่อม

  2. จุดมุ่งหมายผ่านโครงสร้างทางวรรณกรรม ประวัติบุคคล ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  ลำดับก่อนหลัง แนวความคิด

 

อ่านเพื่อเป็นเจ้าของ

     อ่านพระคัมภีร์เพื่อเป็นเจ้าของ ไม่เพียงอ่านเพื่อให้ได้รับเท่านั้นแต่เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลไว้ด้วย ไม่ใช่แค่รับรู้แต่เพื่อยึดไว้เป็นเจ้าของ และทำให้มันเป็นสมบัติส่วนตัวของคุณ

กุญแจสำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมเป็นส่วนตัวและกระตือรือร้นในกระบวนการศึกษา 

อ่านภาพรวม

     อ่านภาพรวมหมายถึง การมองส่วนต่างๆ เป็นภาพกว้างทั้งหมด ดังนั้นพระคัมภีร์ไม่ใช่ที่รวบรวมชิ้นส่วน แต่เป็นศาสน์ที่นำมารวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งภาพรวมมีความสำคัญมากกว่าส่วนย่อย

  1. มองหาคำเชื่อม

  2. ใส่ใจบริบท

  3. ประเมินพระคัมภีร์แต่ละตอนภายใต้ภาพรวมของหนังสือทั้งเล่ม

  4. ดูบริบททางประวัติศาสตร์ของหนังสือ

สิ่งที่เป็นจริงต่อชีวิต

     จุดนี้คือความเป็นจริง พระธรรมตอนนั้นบอกความจริงอะไรแก่คุณ พระวจนะแง่มุมใดที่สะท้อนถึงประสบการณ์ของคุณ คุณจำเป็นต้องใช้จินตนาการที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว  คุณจำเป็นต้องมองหาหลักการ เพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของยุคพระคัมภีร์มาก เราสัมผัสอารมณ์เดียวกับที่พวกเขาสัมผัส เรามีคำถามเดียวกันกับพวกเขา พวกเขาเป็นผู้มีชีวิตอยู่จริงและมีการต่อสู่เดียวกัน มีปัญหาเดียวกันและสิ่งล่อลวงเดียวกันกับที่เรากำลังเผชิญอยู่

 

 

ขั้นตอนที่ 2 การตีความ (นี่หมายความว่าอะไร)


ตีความด้วยความะมัดระวัง

“อันตรายที่ต้องหลีกเลี่ยง”

  • อ่านพระวจนะผิด คุณจะไม่เข้าใจพระวจนะอย่างถูกต้อง ถ้าคุณไม่อ่านให้ถูกต้อง ถ้าพระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น” [ยน.14:6) แต่คุณบอกว่า “เราเป็นทางหนึ่ง” คุณก็กำลังอ่านผิด นั่นคือเหตุผลว่าถ้าคุณต้องการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า คุณต้องเรียนรู้วิธีอ่าน ไม่มีหนทางอื่นใด การไม่รู้พระวจนะเป็นบาปที่ให้อภัยไม่ได้ในเรื่องการตีความ แสดงว่าคุณไม่ได้ทำการบ้านจริงๆ และกระโดดข้ามขั้นตอนแรกคือ การสังเกต

  • การบิดเบือนพระวจนะ ทำให้พระวจนะกล่าวสิ่งที่ตนต้องการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวจริงๆ ดังนั้นเราต้องระมัดระวังที่จะเรียนรู้วิธีตีความพระวจนะอย่างแม่นยำ นำมาปฏิบัติได้จริงแลัวเกิดประโยชน์

  • การขัดแย้งกับพระวจนะ การขัดแย้งกับพระวจนะนั้นแย่ยิ่งกว่าการบิดเบือนเสียอีก มันเท่ากับการเรียกพระเจ้าว่าผู้มุสา กลวิธีที่โปรดปรานอันหนึ่งของซาตานคือ ส่งเสริมความเชื่อและการกระทำที่ต่อต้านพระลักษณะของพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้ทำลายความสุขที่ยินดีในความรู้สึกผิดของมนุษย์และการลงโทษตนเองหรือ! พระเจ้าให้รางวัลความเชื่อและการกระทำที่ดีด้วยความมั่นคงทางวัตถุหรือ! ไม่ใช่แน่นอน แต่ผู้คนก็ยังคงใช้พระวจนะเพื่อสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้

  • ลัทธิเชื่อในความสำนึกคิดของตนเอง การศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเป็นการทึกทักเอาเองทั้งหมด พวกเขาวนไปมาในพระวจนะ เฝ้าหาสัญญาณเร้าใจที่จะบอกว่าเขาเจอขุมทรัพย์แล้ว ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับการตอบสนองต่อพระวจนะด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่อย่างที่กล่าวไว้ความหมายของพระวจนะอยู่ในพระวจนะเอง ไม่ใช่สิ่งที่เรานึกคิดเอาเองเวลาอ่านพระคัมภีร์

  • ลัทธิความจริงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เราจะเห็นว่าพระคัมภีร์แต่ละตอนนำไปสู่วิธีประยุกต์ใช้มากมาย แต่การตีความที่ถูกต้องมีเพียงอย่างเดียว คือความหมายดั่งเดิมของผู้เขียนต้นฉบับ

  • ความเชื่อมั่นแบบเกินเลย การศึกษาพระคัมภีร์เหมือนชีวิตจริงคือ ความเย่อหยิ่งเดินนำหน้าการล้ม ทันทีที่คุณคิดว่าคุณเข้าใจพระวจนะอย่างดีเยี่ยม คุณกำลังจะล้มลง ทำไมน่ะหรือ เพราะว่าความรู้นั้นทำให้ลำพอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถมั่นใจในสิ่งที่คุณเชื่อ จงจำไว้เสมอว่าการตีความนั้นไม่มีจุดจบ

นี่เป็นวรรณกรรมประเภทใด

การอรรถาธิบาย

เป็นการโต้แย้งโดยตรงหรืออธิบายความจริง เป็นลักษณะการเขียนที่ปรากฏเด่นชัดในเรื่องความคิด มีโครงสร้างแน่นหนาและดำเนินไปในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผลประเด็นต่อประเด็น

เรื่องราวและชีวิตประวัติ

ตัวอย่างเช่น ปฐมกาลเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการทรงสร้างโลก เรืองน้ำท่วมโลก เรื่องหอบาเบล และเรื่องของอัครปิตาคือ อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ และโยเซฟ

คำอุปมา

เป็นอุปมาและนิทานเปรียบเทียบมีลักษณะใกล้เคียงกับเรื่องเล่า แต่คำอุปมาเป็นเรื่องสั่นแสดงถึงหลักการทางศีลธรรม คำอุปมาส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์มาจากคำสอนของพระเยซู คำอุปมานั้นเรียบง่าย เข้าใจง่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน

บทกลอน

มีลักษณะโดดเด่น ดึงดูดอารมณ์และจินตนาการ และสำแดงความรู้สึกลึกๆ ทั้งความปรารถนา ความปิติยินดีเหลือล้น และความเจ็บปวดที่ลึกที่สุดในหัวใจของมนุษย์

สุภาษิตและวรรณกรรมทางปัญญา

ผู้เขียนได้สมมติเอาบทบาทของผู้อาวุโสที่แบ่งปันความเข้าใจกับผู้อ่านที่อ่อนอาวุโสกว่าและขาดประสบการณ์ แต่เป็นผู้ที่สามารถรับคำสอนได้ สุภาษิตข้อหนึ่งนั้นสั้นเป็นความจริงที่ทิ่มแทง เผ็ดร้อน ปฎิบัติได้จริง และมักเกี่ยวกับผลสนองของพฤติกรรม

การเผยพระวจนะและคำวิวรณ์

เรามักคิดว่าคำพยากรณ์เป็นการทำนายสำหรับอนานคต แต่ลักษณะเด่นกว่านั้นคือ เป็นบรรยากาศของการตักเตือนและการพิพากษาโดยการสำแดงจากพระเจ้าโดยตรง

 

เนื้อหา

     เมื่อผู้เขียนสดุดีอธิษฐานทูลต่อพระเจ้าว่า “ขอประทานความเข้าใจแก่ข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะรักษาพระธรรมของพระองค์ไว้ และปฏิบัติด้วยสุดใจของข้าพระองค์” (สดุดี. 119:34) เขากำลังเคาะประตูแห่งการตีความ เขาตระหนักดีว่า ถ้าไม่มีการทำความเข้าใจกับความหมายของพระวจนะแล้ว เขาก็ไม่มีทางประยุกต์ใช้พระวจนะในชีวิตของเขาได้เลย ในทางกลับกันเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดประตูความเข้าใจของเขาออกแล้ว เขาก็พร้อมที่จะทำตามพระวจนะของพระองค์

     การมีความสัมพันธ์โดยตรงในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลระหว่างเนื้อหา และความหมายเนื้อหาแต่ละตอนเปรียบเหมือนวัตถุดิบหรือฐานข้อมูลที่เราใช้ในการตีความหมายพระวจนะ กล่าวโดยย่อคือ คุณกำลังใช้กลวิธีต่างๆ ในการตีเส้นกั้นเนื้อหาเพื่อค้นหาคำตอบ สิ่งที่คุณเห็นคืออะไร! หากคุณทำการบ้านมาอย่างดี คุณจะพบความจริงที่ซ่อนอยู่ในพระวจนะแต่ละบทแต่ละตอน ยิ่งคุณใช้เวลามากเท่าใดในการสังเกต คุณก็จะใช้เวลาในการตีความน้อยลงเท่านั้น และผลที่ได้รับก็ยังแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย

 

บริบท

     หมายถึงสิ่งที่มาก่อน และสิ่งที่มาที่หลัง สิ่งที่พระองค์ตรัสและสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นคำตรัสของพระเยซูจะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติตามพระคำของพระองค์ ดังนั้นไม่ว่าท่านจะศึกษาข้อใด ย่อหน้าใด ตอนใดหรือแม้แต่หนังสือทั้งเล่ม ให้สอบถามบริบทของข้อนั้น ย่อหน้านั้น ตอนนั้นหรือเล่มนั้นก่อนเสมอ เมื่อใดที่ท่านหลงทางจงปีนขึ้นต้นไม้แห่งบริบทแล้วมองภาพกว้างบริบททาง, บริบททางประวัติศาสตร์, บริบททางวัฒนธรรม, บริบททางภูมิศาสตร์, บริบททางศาสนศาตร์

 

การเปรียบเทียบ

     เราจะใช้พระคัมภีร์เปรียบเทียบกับพระคัมภีร์คือ จะให้ความปลอดภัยสูงสุด เพราะผู้ที่จะตีความหมายของพระคัมภีร์ได้ดีที่สุดก็คือ พระคัมภีร์นั่นเองจำไว้ว่า แม้จะมีผู้เขียนพระคัมภีร์เกือบ 40 คน แต่พระคัมภีร์ทั้ง 66 เล่มเป็นผลงานของผู้เขียนที่แท้จริงเพียงผู้เดียวนั่นคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงเป็นผู้เรียบเรียงและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว



วัฒนธรรม

     เมื่อมองจากบริบทเบื้องหลังทางวัฒนธรรมแล้วสิ่งนั้นบอกอะไรกับเราในสมัยนี้บ้าง ยังมีพื้นที่สีเทาในสมัยใหม่หรือเปล่า เมื่อใดที่คุณศึกษาพระวจนะของพระเจ้าไม่ว่าเรื่องใดตอนใดก็ตาม อย่าลืมศึกษาเบื้องหลังที่มาของเรื่องนั้นๆ จงจินตนาการฉากทางวัฒนธรรมของเรื่องนั้นขึ้นมา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เรื่องที่คุณอ่านมีชีวิตชีวาขึ้นมา เช่น พระธรรมรูธ, อาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู, สดุดีบทที่ 24

 

 

ขั้นตอนที่ 3 การประยุกต์ใช้ (มันใช้ได้อย่างไร)

 
คุณค่าของการประยุกต์

     การประยุกต์เป็นส่วนที่ได้รับการเอาใจใส่น้อยที่สุดทั้งๆ ที่เป็นส่วนที่จำเป็นที่สุดในกระบวนการ มีการศึกษาพระคัมภีร์มากมายที่เริ่มและจบผิดขั้นตอน คือเริ่มและจบที่การตีความ ดังนั้น การเข้าใจจึงเป็นเพียงหนทางนำไปสู่จุดหมายที่สำคัญกว่า นั่นคือ การนำเอาความจริงในพระคัมภีร์ไปปฏิบัติในชีวิตวันต่อวัน การสังเกตบวกกับการตีความโดยปราศจากการประยุกต์ใช้มีค่าเหมือนกับการทำแท้งบุตรในครรภ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกครั้งที่คุณสังเกตและตีความ แต่ไม่ยุกต์ใช้ คุณกำลังทำลายล้างวัตถุประสงค์ของพระวจนะของพระเจ้าเพราะพระวจนะไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นคำตอบสำหรับความอยากรู้อยาเห็น แต่เพื่อเปลื่ยนชีวิตของคุณ เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาพระคัมภีร์ ไม่ใช่เพื่อกระทำบางสิ่งบางอย่างกับพระคัมภีร์  แต่จงให้พระคัมภีร์ทำบางสิ่งในชีวิตของคุณ ดังนั้นความจริงต้องสัมพันธ์กับชีวิตของคุณ

 

4 ขั้นตอนในการประยุกต์


ขั้นตอนที่ 1 : รู้จัก

     การรู้จักพระวจนะ คือ คุณต้องรู้จักการตีความพระคัมภีร์ เพราะการประยุกต์อยู่บนพื้นฐานของการตีความ ดังนั้น ถ้าการตีความของคุณผิด การประยุกต์ก็มีแนวโน้มที่จะผิดด้วย และเป็นหลักการที่คุณต้องระลึกถึงเสมอว่า การตีความมีหนึ่งเดียว แต่การประยุกต์มีมากมาย

     การรู้จักตนเอง แท้จริงแล้วเหตุผลหลักที่การประยุกต์ไม่เกิดผลกับคนมากมายก็คือ พวกเขาไม่รู้จักตนเองอย่างแท้จริงดังนั้นไม่ใช่เพียงแค่คุณจะต้องรู้จักการตีความเท่านั้น แต่ต้องรู้จักตนเองด้วย

ขั้นตอนที่ 2 : เชื่อมโยง

     เมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับพระวจนะของพระเจ้าแล้ว เราต้องเชื่อมโยงมันเข้ากับประสบการณ์ของเรา

พระวจนะที่กำลังทำงานอยู่

มีความสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า = เพื่อช่วยให้คุณเติบโตและทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ
มีความสัมพันธ์ใหม่ต่อตนเอง = คุณมองตนเองด้วยมุมมองใหม่ เพราะพระเจ้ารักคุณ ชีวิตของคุณมีความหมายและมีจุดหมายใหม่
มีความสัมพันธ์ใหม่ต่อผู้อื่น = คนอื่นไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นผู้คนที่พระเจ้าได้วางไว้ในชีวิตของคุณ และเรียกคุณให้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนที่พระคริสต์ปฏิบัติ
มีความสัมพันธ์ใหม่ต่อศัตรู = เมื่อคุณมาหาพระเจ้า คุณเปลี่ยนมาอยู่อีกฝ่ายในสงคราม
 
ขั้นตอนที่ 3 : ใคร่ครวญ
     การใคร่ครวญมีประโยชน์มากในขั้นตอนการสังเกตและมันก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากในขั้นตอนการประยุกต์ เช่น โยชูวา 1:8 และสดุดี 1:1-2 ข้อพระคัมภีร์ทั้งสองตอนนี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาญ นั่นคือการใคร่ครวญพระวจนะทั้งกลางวันและกลางคืน เราต้องถักทอพระวจนะเข้ากับอารมณ์แห่งชีวิตประจำวันนั่นเอง

ขั้นตอนที่ 4 : ปฏิบัติ
     เป้าหมายสุดท้ายของการศึกษาคือ  การนำความจริงมาปฏิบัติ  พระวจนะไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อขุนให้อ้วน แต่เพื่อฝึกฝนนักกีฬาและทหารสำหรับความจริงแห่งชีวิต “วิ่งเพื่อชัยชนะ” “รบเพื่อชัยชนะ” นั่นคือ สาส์นแห่งพระวจนะ คุณไม่สามารถประยุกต์ความจริงทุกประการที่พบในการศึกษา แต่สามารถประยุกต์บางสิ่งอย่างสม่ำเสมอ คุณควรถามตนเองเสมอว่า “มีชีวิตทางด้านใดที่จำเป็นต้องใช้ความจริงข้อนี้” นั่นอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ไม่มีอะไรที่ไม่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่พระเจ้าต้องการนำมาสู่ชีวิตของคุณ พระองค์ประทานพระวจนะเพื่อเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของคุณ การหิวกระหายพระวจนะ จะมีส่วนตามการเชื่อฟังพระเจ้าของคุณ แท้จริงแล้วมันเป็นวงจร คือ ยิ่งเข้าใจยิ่งใช้มากและยิ่งใช้มากยิ่งต้องการเข้ามากขึ้น
 


หลักการแห่งการประยุกต์

หลักการควรสัมพันธ์กับคำสอนทั่วๆ ไป ของพระวจนะ

     เราต้องย้อนกลับมาที่การเปรียบเทียบพระวจนะกับพระวจนะ เมื่อคุณระบุหลักการหนึ่ง จงคิดถึงพระคัมภีร์ตอนอื่นๆมาสนับสนุนความจริงข้อนั้น เรามักจะพบความยากถ้าเราพยายามหา “หลักกการ” สักอย่างจากพระคัมภีร์ข้อเดียวแล้วพยายามสร้างหลักคำสอนทั้งหมดบนพื้นฐานของข้ออ้างอิงนั้น เราต้องระมัดระวังมากในการกล่าวหลักการทั่วๆไปจากรพะวจนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถประยุกต์พระวจนะอย่างกว้างขวาง แต่ขอให้ประยุกต์มันอย่างสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับพระวจนะ

หลักการควรตอบสนองความต้องการ ความสนใจ คำถาม และปัญหาของชีวิตจริงในปัจจุบัน

     เราศึกษาจากวัฒนธรรม เราจะมีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้น และควรจะรู้ว่าจุดสำคัญอยู่ที่ไหน จุดหักเหและการแตกร้าวอยู่ที่ใด คุณควรรู้ว่าใครหันเหจากพระเจ้า ใครสงสัย อื่นๆ ถ้าคุณกระหายใคร่รู้คุณจะรู้ความต้องการและปัญหาว่าอยู่ที่ใด และเมื่อรู้เช่นนั้นก็สามารถมองหาความจริงจากพระวจนะที่อาจประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ร่วมสมัยได้

หลักการควรชี้ให้เห็นแนวทางการปฎิบัติ

     ปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่ดีที่สุดในโลกนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยหากไม่สามารถนำไปใช้ได้ ไม่ช้าก็เร็วพวกเขาต้องลงมือกระทำ นั่นเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอนต่อหลักการในพระคัมภีร์เช่นกัน ถ้าจะให้เกิดประสิทธิผลพวกเขาต้องลงมือกระทำ

 

ประโยชน์ที่รับจากการอ่าน

     การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทันที ทันใด ทุกอย่างต้องมีเวลาที่พอเหมาะกับการเรียนของผู้นั้นด้วย เพราะพระวจนะของพระเจ้านั้นล้ำลึก และบางครั้งเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะเข้าใจได้ แต่ถ้าเราใช้เวลากับพระวจนะจริงๆ เราจะเห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผ่านพระวจนะนั้น และพระวจนะนั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา

  • เรามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับพระวจนะ คือ(หน้า 35) ดิฉันต้องเห็นความจำเป็นและคุณค่าของการศึกษาพระคัมภีร์ เพราะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญมาก และการศึกษาพระคัมภีร์ก็ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ ทำให้เป็นผู้ใหญ่ และทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนส่วนมากวุ่นวายอยู่กับขีวิตของตนเองและของผู้อื่นมากเกินไป ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างของเราในการไม่ศึกษาพระคัมภีร์ แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้ดิฉันมีความเข้าใจในพระคัมภีร์มากขึ้น และตราบใดที่เรายังอ่านหนังสือออกได้ เราก็สามารถศึกษาพระคัมภีร์ได้ เมื่อดิฉันอ่านตอนนี้ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ยังไม่ดีพอ  เพราะเราต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อก่อนเวลาอ่านพระคัมภีร์เราอ่านได้ ใครๆ ก็อ่านได้ แต่ระดับความเข้าใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดิฉันกลับไปดูสมุดเฝ้าเดี่ยวเมื่อตอนอยู่ปี 1 เมื่ออ่านก็รู้สึกตลกตัวเองมาก ทำไมถึงตลก..ก็เพราะเรามีความเข้าใจพระคัมภีร์มากกว่าเมื่อก่อนมากขึ้น เมื่ออ่านตอนไหนบริบทไหนก็พอเข้าใจได้ นั่นเป็นเพราะเราใช้เวลา หรือผ่านกระบวนการการฝึกฝนพระวจนะมากขึ้น ทำให้เรารู้และเข้าใจ แต่ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจในทุกๆ เรื่องอย่างครบทุกอย่าง เพราะดิฉันเชื่อว่าตนเองต้องพัฒนาต่อไป

  • หนังสือเล่มนี้ดิฉันถือว่าเป็นหนังสือที่มีคุณภาพมากเล่มหนึ่ง ดิฉันทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่หนังสือแนะนำ ดิฉันตื่นเต้นกับการทำแบบฝึกหัดในบทเรียนนั้นมาก เช่น (หน้า56-57) การท่องจำข้อพระคัมภีร์ซึ่งจริงๆแล้วก็ท่องได้อยู่แล้ว แต่ลองท่องแบบไม่ดูเลย เราก็ยังต้องใช้เวลาคิดอยู่นาน และดิฉันก็เรียนรู้วิธีการใช้ข้ออ้างอิงในพระคัมภีร์ ซึ่งลองทำดูก็ทำให้เราเข้าใจในพระคัมภีร์นั้นมากขึ้น และเวลาเราจะพูดหรือแบ่งปันพระวจนะทำให้สิ่งที่เราจะพูดดูมีน้ำหนักมากขึ้น

  • คำพูดของ เชอร์ล็อก โอล์ม กล่าวว่า “คุณเห็น แต่คุณไม่ได้สังเกต” ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องจริงทีเดียว เพราะปัจจุบันนี้ดิฉันก็ยังเป็นอยู่ เราศึกษาพระธรรมเดียวกันแต่เราได้อะไรบางอย่างไม่เหมือนกัน หรือน้อยกว่า ดิฉันมาคิดดูว่าทำไม่? ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นคำตอบให้แก่ดิฉันมาก คือ เราไม่ได้สังเกตจริงๆ เพียงแค่มองผ่านเท่านั้น ดิฉันลองทำตามบทเรียนของเขาดูในเรื่องของการสังเกต ดูเหมือนเด็กๆ ทำ แต่เราก็ได้คิดมากกว่าเดิม (หน้า64- 64)

  • ดิฉันได้เคล็ดลับพิเศษ ที่น่ารักดี คือ การอ่านพระคัมภีร์เหมือนอ่านจดหมายรัก สิ่งที่ หนังสือบอกนั้นก็เป็นความจริง ถ้าเราทำแบบนั้นทุกๆ วัน เราจะเข้าพระวจนะมากขึ้นด้วย

  • ดิฉันคิดว่านอกจากจะแนะนำเราแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังคอยเตือนเราว่าอย่าทำด้วย เช่น การเลียนแบบคริสเตียน (หน้า 119) หลายๆ ครั้งดิฉันก็เป็นแบบนั้นมากก่อน และเคยเห็นคนเอาคำพูดแบบนั้นไปใช้บ่อยๆ ครั้งด้วย เพราะเมื่อตอนดิฉันรับเชื่อใหม่ๆ ดิฉันไม่รู้จะอธิษฐานอย่างไร ก็เอาแบบที่คนเขาทำกันมาพูด แต่เมื่อเราเข้าใจและเราก็ใช้เวลากับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้พระเจ้าจะสำแดงให้เราเข้าใจเอง

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้