สรุปและข้อคิดจาก 2 ทิโมธี

4592 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สรุปและข้อคิดจาก 2 ทิโมธี

สรุปและข้อคิดจาก 2 ทิโมธี จากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์
ของ จอห์น สตอทท์[1]
โดย ภัทรา คะนึงไกวัล

ในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ 2 ทิโมธี ของ จอห์น สตอทท์
แบ่งเนื้อหาเป็น 5 บท ดังนี้                                                         

1.    บทนำ     พูดถึงเบื้องหลังสำคัญ 4 ประการของพระธรรม 2 ทิโมธี
คือ

1.1 ยืนยันว่าเปาโลเป็นผู้เขียนจดหมายฝากฉบับนี้ โดยดูจากหลักฐานทั้งในและนอกพระคัมภีร์ (น. 9-13)

1.2 เล่าว่าเปาโลเขียนจดหมายฝากฉบับนี้ขณะถูกจองจำในคุกใต้ดินที่กรุงโรม (น. 13) ก่อนถูกประหารชีวิตไม่นาน   แม้จดหมายเขียนถึงทิโมธี แต่ก็เป็นเจตนารมณ์สุดท้ายหรือพินัยกรรมของเปาโลต่อคริสตจักรด้วย (น. 15)

ข้อคิด     ในการศึกษาพระธรรม 2 ทิโมธี เราอาจสมมติตัวเองเป็นทิโมธี แล้วพิจารณาว่าเราจะเป็นผู้รับสืบทอดหน้าที่จากคริสตชนรุ่นก่อนอย่างไร มีคำสอน คำเตือน และคำหนุนใจอะไรสำหรับเรา มีอะไรที่เราต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเพื่อจะเป็น
ทิโมธีที่ทำหน้าที่ได้สำเร็จ  ขณะเดียวกันเราก็อาจสมมติตัวเองเป็นเปาโล แล้วพิจารณาว่าใครคือทิโมธีของเรา เราจะมีส่วนสร้าง
ทิโมธีในรุ่นของเราได้อย่างไร

1.3 เล่าเรื่องผู้รับจดหมาย คือทิโมธี ทั้งในด้านความสัมพันธ์กับเปาโล (เป็นผู้ที่เปาโลนำมาเชื่อพระเยซู เป็นลูกศิษย์ เป็นเพื่อนร่วมงาน – น. 16) และลักษณะประจำตัวทิโมธี (อายุน้อย ขี้โรค ขี้อาย - น. 17)

ข้อคิด     ทุกคนที่พระเจ้าทรงเรียกล้วนมีจุดอ่อนเฉพาะตัว จุดอ่อนจึงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะปฏิเสธหน้าที่ ความสำเร็จของงานอยู่ที่ผู้ทรงเรียกเป็นใคร ไม่ใช่เราเป็นใคร

1.4 เล่าถึงความร้อนใจของเปาโลที่ต้องการให้มีผู้ปกป้องและสืบทอดข่าวประเสริฐอย่างสัตย์ซื่อ เนื่องจากเขาเองกำลังจะถูกประหาร ขณะที่สถานการณ์รอบข้างทั้งด้านการเมือง สังคม และศาสนา ล้วนเลวร้ายลง (น. 18-19)

 

                 2.  คำกำชับให้ปกป้องข่าวประเสริฐ (2 ทธ. 1:1-18)

แก่นเรื่องของ 2 ทิโมธี บทที่ 1 คือ อย่าได้ละอายในข่าวประเสริฐ แต่จงปกป้องข่าวประเสริฐไว้

2.1      ข้อ 1   พูดถึงฐานะอัครทูตของเปาโลว่ามาจากพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ โดยเน้นความเป็นอัครทูตใน 2 ประเด็น ได้แก่      

    (1) ที่มา   คือ “ตามพระทัยของพระเจ้า”   ซึ่งก็คือ “การทรงเรียก”  

(2) จุดมุ่งหมาย   คือ “เพื่อพระสัญญาแห่งชีวิตที่มีในพระเยซูคริสต์”   นั่นคือ ข่าวประเสริฐไม่เพียง “นำเสนอ” ชีวิตให้มนุษย์ แต่ยัง “สัญญา” จะให้ชีวิตแก่ทุกคนที่อยู่ในพระคริสต์ด้วย (น. 24)

    2.2   ข้อ 2-8   พูดถึงทิโมธีว่าเป็นบุตรที่รักของเปาโล น่าจะเป็นเพราะเปาโลมีส่วนในการกลับใจของทิโมธี (น. 25)   ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลทักทายทิโมธีด้วยคำ 3 คำ ซึ่งน่าจะมีความหมายมากกว่าเป็นคำทักทายกันตามธรรมเนียม เพราะแฝงความหมายทางศาสนศาสตร์ไว้ด้วย นั่นคือ “พระคุณ” หมายถึงพระกรุณาที่ให้แก่ผู้ไม่สมควรจะได้รับ   “พระเมตตา” มีให้แก่คนอ่อนแอที่ช่วยตัวเองไม่ได้   และ “สันติสุข” นำความกลมเกลียวมาสู่ชีวิตที่ขัดแย้งสับสน (น. 26)

     ข้อคิด     เมื่อเข้าใจความหมายทางศาสนศาสตร์ที่แฝงอยู่ คำทักทายนี้จึงให้ความรู้สึกอันอบอุ่นยิ่งสำหรับเราด้วย เพราะเราก็เป็นคนที่ไม่สมควรจะได้รับพระกรุณา เป็นคนอ่อนแอที่ช่วยตัวเองไม่ได้ และเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเสมอ

พระเจ้าเองทรงปั้นทิโมธีให้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ผ่านอิทธิพล 4 ด้านคือ   

(1) การเลี้ยงดูของครอบครัว   ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสั่งสอนพระคัมภีร์และหล่อหลอมอุปนิสัย  

(2) มิตรภาพฝ่ายจิตวิญญาณ   คือการใช้ชีวิตด้วยกันกับคริสเตียนอื่นและอธิษฐานเผื่อกัน  

(3) ของประทานพิเศษจากพระเจ้า   ประกอบด้วยการทรงเรียกให้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเฉพาะและของประทานพิเศษเพื่อให้ทำหน้าที่นั้นได้สำเร็จ  

(4) ความมีวินัย   เป็นความรับผิดชอบของคนผู้นั้นเองในการนำของประทานไปใช้และพัฒนาให้รุ่งเรืองขึ้น โดยจะต้องไม่เกียจคร้านและไม่ขลาดกลัวที่จะใช้ของประทาน

การจะรับใช้ตามที่พระเจ้าทรงมอบหมายได้ต้องไม่อับอายที่จะ “เป็นพยานขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”  
คริสเตียนเอง “มักจะถูกทดลองให้เกิดความละอายใน 3 ทางด้วยกัน คือ ทดลองให้ละอายในพระนามของพระคริสต์ผู้ทรงเรียกเราให้เป็นพยาน ทดลองให้ละอายในกลุ่มคนของพระคริสต์ ซึ่งถ้าเราเป็นของพระคริสต์ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ และทดลองให้ละอายในข่าวประเสริฐของพระคริสต์ที่ทรงมอบไว้ให้เราประกาศ” (น. 34)

2.3 ข้อ 9-10   พูดถึงข่าวประเสริฐของพระเจ้า ว่าเป็นข่าวดีเรื่องความรอดบาป   เปาโลอธิบายข่าวประเสริฐใน 3 แง่ ดังนี้          (1)     ลักษณะของความรอด   คือ การที่พระเจ้าทรงประกาศว่าเราเป็นคนชอบธรรม (“ทรงช่วยเราให้รอด” – ข้อ 9) ชำระเราให้บริสุทธิ์ (“ทรงเรียกเราด้วยการทรงเรียกอันบริสุทธิ์” – ข้อ 9) และให้เราได้มีส่วนร่วมในสง่าราศีของพระองค์ (“ทรงทำให้ชีวิตและสภาพอมตะปรากฏชัด” – ข้อ 10)  

     (2) ที่มาของความรอด   คือ พระประสงค์และพระคุณของพระเจ้าเอง โดยประทานแก่เราในพระเยซูคริสต์ก่อนที่เราจะเกิด ก่อนที่เราจะทำความดีใดๆ ได้ และแท้จริงประทานแก่เราตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะมีกาลเวลาเสียอีก

     (3) รากฐานของความรอด   คือ การที่พระคริสต์เสด็จเข้ามาในโลกครั้งแรกและทรงทำลายความตายเสีย   แม้ปัจจุบันความตายยังไม่ถูกขจัดให้หมดไป แต่ก็หมดประสิทธิภาพหรือหมดอำนาจแล้วโดยการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระคริสต์ (น. 40-42)

2.4 ข้อ 11-18   พูดถึงหน้าที่ของเราต่อข่าวประเสริฐ ได้แก่  

     (1) ประกาศข่าวประเสริฐ   ปัจจุบันไม่มีอัครทูตแล้ว แต่ยังมีผู้ประกาศและครู   “ผู้ประกาศ” สอนสาระสำคัญของข่าวประเสริฐและเรียกให้คนกลับใจเชื่อพระเยซู   ส่วน “ครู” สอนหลักข้อเชื่อซึ่งเป็นรากฐานของข่าวประเสริฐและแนวปฏิบัติทางจริยธรรมซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากข่าวประเสริฐ   อย่างไรก็ดี งานของผู้ประกาศและครูมักคาบเกี่ยวกันเสมอ

                  (2) ทนทุกข์เพื่อข่าวประเสริฐ   เนื่องจากมนุษย์จะเกลียดการยอมรับว่าเป็นคนบาปหนาที่ช่วยตัวเองไม่ได้และจำต้องรับพระคุณของพระเจ้า ทุกคนที่ประกาศข่าวประเสริฐอย่างสัตย์ซื่อจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกต่อต้านหรือข่มเหง   

                  (3) พิทักษ์รักษาข่าวประเสริฐ   ข่าวประเสริฐคือทรัพย์ล้ำค่าที่พระคริสต์ทรงมอบให้เปาโล และเปาโลมอบต่อให้ทิโมธีปกป้องรักษาและสืบทอดต่อไป   พระเจ้าทรงมอบของล้ำค่านี้ไว้กับเราที่อ่อนแอและผิดพลาดได้ง่ายก็จริง แต่ไม่ได้ทรงทิ้งให้เราทำหน้าที่โดยลำพัง พระองค์เองจะทรงรักษาข่าวประเสริฐนี้ให้ปลอดภัยจนถึงวันพิพากษา   “การประกาศข่าวประเสริฐจึงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง” (น. 53)

3. คำกำชับให้ทนทุกข์เพื่อข่าวประเสริฐ (2 ทธ. 2:1-26)

แก่นเรื่องของ 2 ทิโมธี บทที่ 2 คือ เรียกร้องให้ทนทุกข์เพื่อข่าวประเสริฐ และอธิบายคุณสมบัติของผู้รับใช้พระเจ้า

3.1 ข้อ 1-2   พูดถึงการสืบทอดข่าวประเสริฐ   เปาโลเรียกร้องให้ทิโมธีสู้ทวนกระแสต่อต้านของสังคมและความรู้สึกไม่มั่นใจของตัวเอง โดยบอกทิโมธีว่า ขุมพลังในการรับใช้พระเจ้าไม่ได้มาจากอุปนิสัยโดยกำเนิดของเขาเอง แต่มาจากพระคุณพระเจ้าในพระเยซูคริสต์   “เราต้องพึ่งพระคุณพระเจ้าไม่เพียงเพื่อเราจะได้รับความรอดเท่านั้น (1:9) แต่พึ่งพระคุณของพระองค์ที่จะช่วยให้เรารับใช้พระองค์ได้ด้วย” (น. 56)

เปาโลเห็นภาพการสืบทอดข่าวประเสริฐเป็น 4 ลำดับขั้น คือ   (1) จากพระคริสต์ถึงเปาโล   (2) จากเปาโลถึง
ทิโมธี   (3) จากทิโมธีถึงบรรดาคนสัตย์ซื่อ เช่น ผู้รับใช้ที่มีหน้าที่สอนพระวจนะและผู้ปกครองคริสตจักร   (4) จากคนสัตย์ซื่อเหล่านั้นถึงคนอื่นๆ

3.2 ข้อ 3-4   อุปมาที่ 1: ทหารผู้อุทิศตนเพื่อหน้าที่   เปาโลเปรียบผู้รับใช้เป็นทหารเพื่อเน้นว่า ผู้รับใช้ต้องเป็นคนที่อุทิศตัว ยอมทนทุกข์ และมีใจแน่วแน่ในการทำหน้าที่   ทหารยามรบย่อมถือว่าความยากลำบาก การเสี่ยงภัย และการทนทุกข์เป็นของธรรมดาที่ต้องพบ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทหาร   ฉันใดฉันนั้น คริสเตียนก็ไม่ควรหวังว่าจะมีชีวิตที่สบาย ถ้าเขาจริงจังกับข่าวประเสริฐ เขาก็ต้องเผชิญการต่อต้านและดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างแน่นอน (น. 60)   นอกจากนี้ ทหารต้องไม่ไปพัวพันกับงานฝ่ายพลเรือน คือไม่พัวพันกับสิ่งใดที่อาจขัดขวางมิให้เขาต่อสู้เพื่อพระคริสต์อย่างเต็มที่   ประเด็นนี้อาจเป็นคำแนะนำที่เจาะจงสำหรับผู้รับใช้หรือศิษยาภิบาลว่า ศิษยาภิบาลไม่ควรต้องแบกภาระการเลี้ยงชีพโดยทำงาน “ฝ่ายโลก” เพื่อเขาจะได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดทำหน้าที่และจดจ่อศึกษาพระวจนะโดยไม่วอกแวก (น. 61)

     ข้อคิด     ทหารไม่ได้สักแต่รบ ทว่ารบอย่างมีเป้าหมาย   การรับใช้จึงไม่ใช่สักแต่รับใช้ หากแต่ต้องทำอย่างมีเป้าหมายและมุ่งไปให้ตรงเป้า มิฉะนั้น การรับใช้อาจกลายเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่ง มีแต่รูปแบบ ไม่มีสาระ ประเด็นนี้มักเป็น
กับดักการรับใช้ของฆราวาส   ส่วนกับดักของผู้รับใช้คือ งานรับใช้อาจกลายเป็นแค่การประกอบอาชีพ รับใช้เพื่อเลี้ยงชีพ แทนที่จะเป็นการรับใช้โดยได้รับการดูแลให้ดำรงชีพได้   สภาพที่ไม่ควรเป็นนี้อาจมีสาเหตุได้จากทั้งสองทางคือ เกิดจากฝั่งผู้รับใช้เองพลาดเป้า หรือเป็นความกดดันจากภายนอกให้ผู้รับใช้ต้องหาทางเลี้ยงชีพพร้อมกับรับใช้ไปด้วย โดยมักอ้างกรณีเปาโลเป็นตัวอย่าง   แต่คู่มือเล่มนี้เห็นว่า กรณีเปาโลเป็นข้อยกเว้นและเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล (น. 61)   เปาโลเองแสดงชัดเจนอย่างนั้นและยังยืนยันหลักการตามพระบัญชาของพระเจ้าเกี่ยวกับตัวเองและผู้รับใช้คนอื่นว่า “คนที่ประกาศข่าวประเสริฐควรได้รับการเลี้ยงชีพด้วยข่าวประเสริฐ” (1 คร. 9:14)

3.3 ข้อ 5   อุปมาที่ 2: นักกีฬาผู้แข่งขันตามกติกา   นักกีฬาจะแสดงกำลังความสามารถอย่างสะเปะสะปะไม่ได้ แต่ต้องแข่งขันให้ถูกกติกา   ฉันใดฉันนั้น คริสเตียนก็ต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามกฎศีลธรรมของพระเจ้าและรับใช้อย่างซื่อสัตย์เต็มกำลัง แข่งขันจนถึงที่สุด จึงจะได้รับรางวัล

3.4 ข้อ 6   อุปมาที่ 3: กสิกรผู้ตรากตรำทำงานหนัก   กสิกรต้องตรากตรำทำงานหนักจึงประสบผลสำเร็จ   ฉันใดฉันนั้น ผู้รับใช้ก็ต้องตรากตรำเทศนา สั่งสอน และปล้ำสู้อธิษฐาน จึงจะได้เก็บเกี่ยวผลิตผล คือได้ความบริสุทธิ์ในชีวิตตนและได้คนมารับเชื่อพระเยซู

3.5 ข้อ 7   หนทางสู่ความเข้าใจ   การจะเข้าใจความจริงของพระเจ้าต้องประกอบด้วย 2 ด้านคือ  

     (1) ด้านมนุษย์   เขาต้องใคร่ครวญพระวจนะ  

     (2) ด้านพระเจ้า   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสำแดงให้เขาเข้าใจความหมายของสิ่งที่ใคร่ครวญนั้น

3.6 ข้อ 8-13   การทนทุกข์เป็นเงื่อนไขแห่งพระพรเปาโลยกประสบการณ์จริง 3 ประการมาชี้ให้เห็นว่า “ไม่มีสิ่งสูงค่าใดที่ได้มาโดยง่าย” (น. 70) ดังนี้  

     (1) ประสบการณ์ของพระคริสต์   การที่พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากตายบ่งว่าพระองค์เป็นพระบุตรพระเจ้าและเป็นพระผู้ช่วยให้รอด ส่วนการที่ทรงสืบเชื้อสายจากดาวิดบ่งว่าพระองค์เป็นมนุษย์และเป็นพระมหากษัตริย์   ประสบการณ์การสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระคริสต์ชี้ให้เห็นว่า ความตายเป็นประตูสู่ชีวิตและการทนทุกข์เป็นหนทางสู่สง่าราศี  

     (2) ประสบการณ์ของเปาโล   เปาโลประกาศข่าวประเสริฐเพื่อให้คนที่พระเจ้าทรงเลือกได้รับความรอด   ประสบการณ์ของเปาโลแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครประกาศข่าวประเสริฐได้โดยไม่ต้องทนทุกข์  

     (3) ประสบการณ์ของคริสเตียนทุกคน   เราจะได้ชีวิตร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ก็ต่อเมื่อเรามีส่วนร่วมกับความตายของพระองค์ในโลกนี้ และเราจะได้ครอบครองกับพระคริสต์ในวันหน้าก็ต่อเมื่อเรามีส่วนร่วมทนทุกข์กับพระองค์ในวันนี้ (น. 74)  
เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าจะมีชีวิตที่สะดวกสบายและยิ่งไม่ควรสัญญากับคนอื่นๆว่าเขาจะสุขสบายไร้อุปสรรคเมื่อมาเป็นคริสเตียน

     ข้อคิด     คนปัจจุบันรังเกียจความทุกข์ รักความสุขสบาย อาจเพราะเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เอื้อให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก   นอกจากนี้ คนที่โตในบริบทสังคมไทยยังอาจได้รับอิทธิพลทั้งจากศาสนาพุทธที่เน้นการดับทุกข์และแนวคิดมนุษยนิยมที่เน้นให้คนมีความสุข   อิทธิพลเหล่านี้อยู่อย่างกลมกลืนในสังคมไทยอาจจะเพราะไทยเป็นดินแดนที่อุดมด้วยน้ำและอาหารอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งภูมิประเทศภูมิอากาศก็ไม่ลำเค็ญต่อการดำรงชีพ คนจึงมีแนวโน้มจะใช้ชีวิตอย่างเรื่อยๆ สบายๆ ไม่อุตสาหะอยู่แล้ว   การเรียกร้องให้คนในสังคมแบบนี้ยอม “ตรากตรำ ดิ้นรน ต่อสู้” ถือว่าสวนกระแสโดยสิ้นเชิง   นี่อาจเป็นเหตุให้คนยอมรับแนวคิดแบบพุทธหรือ “prosperity gospel” ได้ง่ายกว่าและสะดวกใจกว่าการเป็นคริสเตียนอย่างเปาโลหรือแม้กระทั่งพระเยซูเอง บ่อยครั้งการประกาศข่าวประเสริฐจึงต้องเน้นแต่พระพรและละเว้นไม่พูดถึงการทนทุกข์ ทำให้ความเข้าใจของคนที่มาเป็นคริสเตียนบิดเบี้ยวตั้งแต่แรก

3.7 ข้อ 14-19   อุปมาที่ 4: คนงานที่ไม่ต้องอาย   งานที่คนงานคริสเตียนต้องทำคือการสอนพระวจนะแห่งความจริง ซึ่งก็คือพระคัมภีร์นั่นเอง   คนงานมี 2 จำพวก ได้แก่  

     (1) คนงานที่ดี   เป็นผู้ที่สอนพระวจนะอย่างถูกต้อง  

     (2) คนงานที่ใช้ไม่ได้   เป็นพวกที่หลงไปจากความจริง และชักพาให้คนที่เขาสอนหลงทางไปด้วย

3.8 ข้อ 20-22   อุปมาที่ 5: ภาชนะที่สะอาด   เปาโลเปรียบคริสตจักรเป็นบ้านหลังใหญ่ ส่วนภาชนะน่าจะหมายถึงผู้สอน ซึ่งมี 2 จำพวก ได้แก่ ผู้สอนแท้ และผู้สอนเทียมเท็จ   การจะเป็นผู้สอนแท้ที่พระเจ้าทรงใช้ได้ต้องชำระตัวให้บริสุทธิ์ โดยหลีกหนีจากอันตรายฝ่ายจิตวิญญาณและใฝ่หาความดีงามทางจิตวิญญาณ

3.9 ข้อ 23-26    อุปมาที่ 6: ผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า   อุปมานี้เปรียบผู้รับใช้พระเจ้าเป็นทาสในเรือนขององค์พระผู้เป็นเจ้า (น. 90)   เขาต้องเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม เป็นครูที่สามารถสอนสัจธรรมและกล้าตักเตือนฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ช่างทะเลาะในเรื่องไม่เป็นสาระ   ด้วยคุณสมบัตินี้เขาจึงจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้นำผู้ที่หลงผิดให้กลับใจมาถึงความจริงและรอดจากมารได้

4. คำกำชับให้ยืนหยัดในข่าวประเสริฐ (2 ทธ. 3:1-17)

            แก่นเรื่องของ 2 ทิโมธี บทที่ 3 คือ ให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อข่าวประเสริฐ ไม่ว่าจะมีแรงต้านจากสังคมมากมายเพียงไร

4.1 ข้อ 1-2ก.   เปาโลเตือนทิโมธีว่า การต่อต้านข่าวประเสริฐไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่เป็นลักษณะประจำยุคสุดท้ายซึ่งเริ่มต้นเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมาครั้งแรก (น. 98)   ดังนั้น มี 4 สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ   (1) เรากำลังอยู่ในยุคดังกล่าว   (2) นี่เป็นกลียุคที่มากด้วยความกดดันและอันตราย   (3) สภาวะเช่นนี้เป็นผลจากการกระทำของคนชั่ว   (4) เราต้องเข้าใจสถานการณ์ให้แจ่มแจ้งและเตรียมพร้อมที่จะรับมือ

4.2 ข้อ 2-9   เปาโลแจกแจงลักษณะของคนชั่วที่ก่อให้เกิดกลียุคเป็น 3 ด้าน ได้แก่  

     (1) พฤติกรรมทางศีลธรรม   เป็นคนที่รักตัวเอง รักเงิน รักความสนุกสนานมากกว่ารักพระเจ้าและคนอื่นๆ  

     (2) การถือศาสนา   มีแต่เปลือกนอก เป็นความเชื่อที่ไม่มีความประพฤติ   

     (3) ความเร่าร้อนในการแพร่คำสอนผิดๆ   พวกเขาไม่เพียงประกาศตัวว่าถือศาสนา ยังเที่ยวสอนศาสนาอย่างแข็งขันด้วย แต่สอนผิดๆ ชักนำให้คนอ่อนแอหลงผิดตามเขาไป   ในคริสตจักรก็มีคนแบบนี้อยู่ เปาโลเตือนว่าอย่าได้ติดเชื้อร้ายนี้

4.3 ข้อ 10-15   เปาโลเรียกร้องให้ทิโมธียืนหยัดทำสิ่งที่ขัดแย้งกับสังคมร่วมสมัยซึ่งกำลังเสื่อมทรามลง โดยหนุนใจว่า   (1)     ให้ระลึกถึงอดีตที่ทิโมธีเคยตามอย่างเปาโลทั้งความเชื่อและความประพฤติ   

     (2) ให้ตั้งมั่นในสิ่งได้เรียนรู้แล้วต่อไปในอนาคต   สิ่งที่ทิโมธีได้เรียนรู้นั้น ด้านหนึ่งมาจากพระคัมภีร์พันธ-สัญญาเดิมที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก และอีกด้านมาจากคำสอนของเปาโล ทั้งหมดรวมกันก็คือข่าวประเสริฐที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์

4.4 ข้อ 15   เปาโลยืนยันความจริง 2 ประการเกี่ยวกับพระคัมภีร์ คือ  

     (1) ที่มา   พระคัมภีร์ทุกตอนมีจุดกำเนิดจากพระทัยพระเจ้า และพระเจ้าตรัสกับมนุษย์โดยลมหายใจหรือพระวิญญาณของพระองค์ (น. 125) พระคัมภีร์จึงเป็นพระวจนะของพระเจ้า  

     (2) จุดมุ่งหมาย   พระคัมภีร์มีเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ใน 2 ด้าน คือ สอนให้ถึงความรอด และสอนให้เติบโตเป็นคริสเตียนที่มีวุฒิภาวะ

 

5. คำกำชับให้ประกาศข่าวประเสริฐ (2 ทธ. 4:1-22)

แก่นเรื่องของ 2 ทิโมธี บทที่ 4 คือ จงประกาศข่าวประเสริฐ  

คำกำชับนี้พิจารณาได้ใน 3 ด้าน ดังนี้

5.1 ข้อ 2   เนื้อหาคำกำชับ คือ จงประกาศ “พระวจนะ” ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกับ “ข่าวประเสริฐ” (1:11) หรือบางครั้งเปาโลก็ใช้ว่า “คำสอนที่ถูกต้อง” (1:13; 4:3) หรือ “ความจริง” (4:4) หรือ “ความเชื่อ” (4:7)

     ข้อคิด     สิ่งที่เปาโลกำชับให้สืบทอดคือ ความเชื่อตามแบบพระคัมภีร์หรือความเชื่อแบบอัครทูตเท่านั้น แต่ในแวดวงคริสเตียนก็ยังพบความเชื่อที่บวกอย่างอื่นเข้าไปด้วยเสมอๆ บ้างก็บวกจารีตหรือธรรมเนียม และที่เห็นในทุกวันนี้ก็คือบวกกระแสโลก เช่น สนใจวุฒิการศึกษามากกว่าสาระความรู้และชีวิต เอาหลักบริหารธุรกิจมาใช้บริหารพันธกิจโดยไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร เป็นต้น

การประกาศพระวจนะต้องมีลักษณะ 4 ประการ คือ  

(1) ทำอย่างขะมักเขม้น   หมายถึงทำอย่างจริงจังและเร่งร้อน  

(2) ใช้วิธีที่เหมาะสมแก่ผู้ฟัง เช่น คนที่สงสัย ต้องโน้มน้าวด้วยเหตุผล, คนที่ทำบาป ต้องเตือนสติ, คนที่หวั่นกลัว ต้องหนุนใจ  

(3) ทำด้วยความอดทน   ต้องรอคอยให้ผู้รับตัดสินใจ ไม่ใช้วิธีกดดันหรือใช้เล่ห์เพทุบาย  

(4) ทำอย่างมีปัญญา   ไม่เพียงประกาศพระวจนะเท่านั้น แต่สั่งสอนพระวจนะด้วย

5.2 ข้อ 1, 3-8   รากฐานคำกำชับ   เปาโลให้มองดู 3 สิ่งซึ่งจะเสริมแรงบันดาลใจให้ทิโมธี ได้แก่  

(1) พระคริสต์ผู้จะเสด็จมา   เปาโลกำชับทิโมธีโดยการบัญชาและเห็นชอบของพระเจ้า เพราะสิ่งดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้เกิดพลังใจในการดำเนินชีวิตและรับใช้อย่างซื่อสัตย์ก็คือ การแน่ใจว่านี่เป็นภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมาย (น. 135)   เปาโลยังอ้างถึงการเสด็จมาของพระคริสต์และอาณาจักรของพระองค์ เพราะการเสด็จกลับมา การพิพากษา และอาณาจักรของพระคริสต์ ควรเป็นสิ่งที่เราเฝ้าคอยด้วยความมั่นใจและจะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการรับใช้ของเรา  

(2) ความเป็นไปของสังคมร่วมสมัย   นี่เป็นยุคที่ยากลำบากก่อนพระคริสต์เสด็จกลับมา เป็นเวลาซึ่งต้องการผู้รับใช้ที่จะทำหน้าที่อย่างสัตย์ซื่อ   คำแนะนำของเปาโลสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ คือ   (ก) เมื่อผู้คนต่างไม่มั่นคงในความคิดและความประพฤติ ทิโมธีต้องหนักแน่นมั่นคง   (ข) แม้ผู้คนต่างไม่ยอมฟังคำสอนที่ถูกต้อง ทิโมธีต้องยืนหยัดสอนต่อไป   (ค) เมื่อผู้คนตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ความจริงของข่าวประเสริฐ ทิโมธีต้องทำหน้าที่ประกาศข่าวประเสริฐ   (ง) แม้ผู้คนพากันละทิ้งทิโมธีไปติดตามครูสอนเท็จ ทิโมธีก็ยังต้องทำหน้าที่ต่อไปให้สำเร็จ

(3) สภาพของเปาโลเอง   เปาโลได้รักษาและประกาศข่าวประเสริฐอย่างเต็มกำลังมาจนถึงที่สุดแล้ว และบัดนี้ใกล้ถึงเวลาที่เขาจะต้องพลีชีพเพื่อพระคริสต์ หลังจากนั้นเขาก็จะได้รับมงกุฎ คือรางวัลที่พระองค์จะทรงมอบให้    เมื่อคนรุ่นหนึ่งกำลังจะจากไป จำเป็นอย่างยิ่งที่คนอีกรุ่นจะต้องก้าวขึ้นมารับหน้าที่แทน

5.3 ข้อ 9-22   ตัวอย่างประกอบคำกำชับ   ในการกำชับทิโมธี เปาโลได้ยกการกระทำของตนเป็นตัวอย่างด้วย กล่าวคือ เปาโลไม่เพียงเทศนาข่าวประเสริฐมาตลอด แต่ยังได้ประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญในศาลโรมันขณะที่ถูกไต่สวนคดีร้ายแรงซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของตน และเขาทำเช่นนั้นแม้อยู่ในสภาพที่น่าสลดใจและรู้สึกว้าเหว่   ความว้าเหว่ของเปาโลอาจเกิดจากการรู้สึกว่าถูกมิตรสหายทอดทิ้ง ถูกศัตรูต่อต้าน และไม่มีใครช่วยเขาเลยในการแก้คดี   ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เปาโลห่วงใยก็ไม่ใช่ตัวเอง แต่เป็นข่าวประเสริฐของพระคริสต์  

บทสรุปชีวิตของเปาโลคือ รับพระคุณจากพระคริสต์ และถวายพระสิริคืนแด่พระองค์   ชีวิตและการรับใช้ของคริสเตียนทุกคนก็ควรเป็นเช่นนี้ (น. 159)

___________________________________________

[1] สตอทท์, จอห์น อาร์. ดับบลิว, 2 ทิโมธี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: กนกบรรณสาร, 2000).

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้