โลกคือความเปลี่ยนแปลง (การจัดการกับโลกที่เปลี่ยนแปลง)

1309 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โลกคือความเปลี่ยนแปลง  (การจัดการกับโลกที่เปลี่ยนแปลง)

โลกคือความเปลี่ยนแปลง[1] (การจัดการกับโลกที่เปลี่ยนแปลง)
ดร. เน็ด อาร์ สจ๊วต

หัวหน้าภาคการให้คำปรึกษา รร. คริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์

แปลโดย นานาพร



การมีอายุ 64 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พวกเราชาวอเมริกันเรียกมันว่า “ไม่ใช่วันตากอากาศ” ผมเขียนเรื่องนี้ขณะที่ผมกำลังบินอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อเดินทางกลับไปยังอเมริกา ประมาณปีหนึ่งแล้ว เมื่อผมอยู่ที่นั่นครั้งหลังสุด แม้กระนั้นสิ่งที่ผมคาดว่าจะพบ ก็คือ มีบางสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้โดยง่ายคือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ถนนเปลี่ยน มีตึกใหม่ๆถูกสร้างขึ้นมา ตึกเก่าๆถูกทุบทิ้งไป บางครั้งผมจำสถานที่ไม่ได้ ยิ่งแก่ขึ้น ผมก็ยิ่งถูกรบกวนเพราะการเปลี่ยนแปลงพวกนี้มากขึ้น

วิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยน เศรษฐกิจของอเมริกายังคงล้มลุกคลุกคลานเหมือนที่เป็นมาหลายปีแล้ว และการเปลี่ยนแปลงก็เห็นได้ชัดเจน บางครอบครัวก็ยากจนลง และก็ต้องทุกข์หนัก เมื่อบางคนต้องตกงาน บางคนก็สูญเสียบ้าน เกือบทั้งหมดสูญเสียความอยู่ดีกินดี และความมั่งคั่งซึ่งก่อนนี้เคยเห็นได้ง่ายดาย เพื่อนๆและครอบครัวของผมแก่ตัวลง  

คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งขายบ้าน แล้วย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนผู้เกษียณอายุ (บ้านพักคนชรา) ซึ่งสามารถอยู่ใกล้หมอได้ บางคนก็เกษียณและย้ายไปอยู่ใกล้ๆกับลูกๆซึ่งแต่งงานไปแล้วและมีครอบครัวของตนเอง ผมเป็นคนยุค “Baby Boomer” และหมายความว่า อีกมากมายหลายคน กำลังจะเกษียณ และกำลังเปลี่ยน แปลงวิถีชีวิตของพวกเขา พวกเราชาว “Baby Boomer” เคยเป็นส่วนหนึ่งของฐานพลัง เดี๋ยวนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่กว่าก็เป็นกลุ่มที่มีพลังและมีอิทธิพล

แล้วผมพูดไปหรือยังนะ เรื่องร่างกายของผมก็เปลี่ยน ผมเคยสร้างกล้ามเนื้อได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างจริงจัง เดี๋ยวนี้มันยากแล้ว เรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับภรรยาประจำ จะมีวลีนี้ “แก่ขึ้นนี่มันก็ยากขึ้นนะ”

ผมมั่นใจว่าคุณเห็นภาพ การไม่เปลี่ยนแปลงเลยอาจจะหมายถึงเราตายแล้ว ไม่มีใครต้องการอย่างนั้น ดังนั้นเราจึงเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่กับความเปลี่ยนแปลง คนบางคนทำอย่างนั้นได้ คนบางคนก็ทำไม่ได้ ผมเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลงเสมอมา ผมจะรู้สึกเบื่อกับสถานการณ์ซ้ำซาก จำเจ ตอนนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะต้อนรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเหมือนเคย

แต่มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ไม่มีใครอยากเจอ เพื่อนๆผม ยิ่งแก่ตัวลง ก็ยิ่งมีปัญหาสุขภาพ และเป็นโรค เช่นมะเร็ง จิตใจก็โดนกระทบเช่นกัน เมื่อบางคนเจ็บป่วยทางจิตใจ ทุกคนรอบๆก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัว ความซึมเศร้าชายสูงอายุก็เป็นปัญหามากขึ้น

ผมแน่ใจว่าถ้าคุณกำลังประสบกับความเจ็บป่วยทางจิตในครอบครัวของคุณ คุณก็มีหลายสิ่งที่ต้องเผชิญและต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้นผมจะใช้พื้นที่ต่อจากนี้นำความคิดของเราไปในทางที่ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนได้ บางทีคุณอาจจะได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้และความสำคัญของมัน

การเปลี่ยนแปลงทำให้เรารู้สึกแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้นหรือความกลัว ผมมีเพื่อนดีๆบางคนซึ่งต้องเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ สามีเป็นโรคนี้ เป็นเวลานานมากที่พวกเขาไม่ยอมจะเผชิญกับความรู้สึกนั้น พวกเขาไม่ยอมรับอาการและสิ่งที่คุณหมอพบ ความเจ็บปวดและตกใจที่พบว่าคนที่คุณรักนั้น เป็นมะเร็งหรืออัลไซเมอร์นั้นมันหนักหนา เรามักไม่สามารถ หรือไม่อยากจะทำใจให้ยอมรับมันได้

ผมหวังว่าคุณคงไม่เหมือนคนอื่นๆที่คิดว่าความรู้สึกนั้นคือความจริง ผมไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกนั้นไม่เป็นเรื่องจริงเพราะเราปฏิเสธมันไม่ได้ แต่ผมหมายความว่าบางคนเอาความรู้สึกมาเป็นความจริงสุดท้าย ความรู้สึกเป็นเหมือนห้องรับแขกซึ่งเราเผชิญกับสถานการณ์ แต่ไม่ใช่บ้านทั้งหลัง

ความรู้สึกมาจากบางที่บางแห่ง เมื่อเราตระหนักได้ว่าเป็นที่ไหน เราก็จะรับมือกับมันได้อย่างเหมาะสม วิธีที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์ มักจะนอกเหนือการควบคุม และถูกบงการโดยเบื้องหลังและมุมมองต่อโลกรอบตัวเรา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแต่ละคนจึงมีความรู้สึกแตกต่างกันไป ดังนั้น ความรู้สึกของคุณ คุณเป็นเจ้าของ เป็นของคุณโดยเฉพาะ คุณไม่จำเป็นแม้แต่จะต้องไปต่อต้านมัน

แต่ถ้าเราอยากจะเข้าใจมัน ก็จำเป็นจะต้องหาให้พบว่าความรู้สึกนั้นมาจากที่ไหน เราจึงต้องตรวจสอบว่าเรารับรู้โลกนี้อย่างไร และเราเห็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ การรับรู้ของเราต่อโลกมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เปรียบกับภาพของบ้าน การรับรู้ของเราก็เหมือนกับหน้าต่าง เรามองเห็นโลกข้างนอกอย่างไร เรามองเห็นโลกข้างในตัวเราอย่างไร ความรู้สึกมักมาจากว่าเราถูกสอนให้มองโลกรอบๆตัวเราอย่างไร เบื้องหลังของเรานั้นสำคัญมาก

จากการรับรู้ของเราทำให้เราเห็นสิ่งที่เราคาดหวัง สมมติว่าเพื่อนๆผมที่เป็นอัลไซเมอร์เคยอยู่ในโลกที่เขาเคยควบคุมทุกสิ่งได้ ที่ซึ่งเขารู้สึกว่าเคยเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้ การที่ได้ประสบความ สำเร็จ มาพอสมควร พวกเขาอาจคิดว่าเขาสามารถแก้ปัญหาเกือบทุกสิ่งได้ และนี่อาจกลายเป็นความคาดหวังของพวกเขา บางทีพวกเขาอาจจะมองโลกในมุมมองทางศาสนา มีพลังที่สูงกว่าคอยควบคุมอยู่ และสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งได้ เขาก็จะคาดหวังสิ่งนั้น บางทีพวกเขาอาจจะคาดหวังว่าชีวิตจะมีแต่ความสุข และมีความหมาย และพวกเขาจะหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่ “คนอื่น” เจอได้

เห็นไหมครับว่าความคาดหวังสำคัญเพียงไร ถ้าผมคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อผมกลับไปอเมริกา ผมก็จะไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร ความคาดหวังจะทำให้เราตอบสนองอยู่ในทางที่ควร และก็จะทำให้เราปรับตัวได้ พ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกๆจะมาคอยดูแลยามแก่เฒ่า อย่างที่พ่อแม่ทำให้กับลูกตอนเขายังเด็กๆ อาจไม่พบว่าเป็นเช่นนั้น

ความคาดหวังเปรียบได้กับกำแพง นั่นเป็นเหตุให้เรากล่าวว่า “เรามักวิ่งชนกำแพงอยู่นั่น” เมื่อเราหงุดหงิดไม่พอใจ แต่กำแพงก็อาจเปลี่ยนได้แม้จะเป็นกำแพงบ้าน โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถเอาผนังออก หรือเติมฝาผนังเข้ามา หรืออย่างน้อยปรับเปลี่ยนความต้องการของเรา ความคาดหวังของเราก็เป็นจริงอย่างนั้นเช่นกัน ผนังเหมือนกับจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ถ้าเรากำลังปรับแต่งบ้านของเรา “ในอนาคต” เราจำเป็นต้องถามว่า จริงๆแล้ว เราอยากจะได้อะไร การทำให้กำแพงเคลื่อนที่ได้ หรืออย่างน้อยก็ปรับเปลี่ยนได้ อะไรเป็นสิ่งที่เราหวังจะให้เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการจัดการกับความคาดหวังอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปได้ด้วย ดังนั้นเราจึงพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตที่จัดการได้   อนาคตที่เป็นไปได้

ในพระคัมภีร์ของคริสเตียน ผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า แนวทางของท่านคือ “ลืมสิ่งที่ผ่านพ้นไป และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า” ดูจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผม แต่อาจจะยากก็เป็นได้ การยอมละทิ้งความฝันและความหวังเดิมๆ มุมมองของเราต่อโลก และรูปแบบที่เกี่ยวข้อง อาจจะยากทีเดียว เรามีแนวโน้มจะคิดว่าแบบที่เคยเป็น แบบที่เป็นอยู่ คือแบบที่จะเป็นต่อไป มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ความภาคภูมิใจของเรามักจะกีดขวางเรา ความคิดที่ว่าเราสมควรจะได้รับ อาจทำให้เรามีปัญหาได้   

มาสรุปกันหน่อย เราจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เราเผชิญกับความรู้สึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แล้วเราก็ตระหนักว่าความรู้สึกของเราส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานความคาดหวัง และมุมมองต่อโลกของเรา

ถ้าเราทำได้เราก็มาเริ่มต้นกันใหม่  เราลืมสิ่งที่ผ่านไปได้ ความคาดหวัง ความฝัน เป้าหมาย บางสิ่งซึ่งทำให้เราต้องเสียใจ เราต้องเลิกล้มมันไป และมองหาอนาคตใหม่

แล้วตอนนี้เราก็พร้อมที่จะมาดูว่าจริงๆแล้วเราอยากจะได้อะไร การบอกว่า “ฉันอยากได้” ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราบอกกับตัวเองได้ กับครอบครัว และคนรอบๆตัวเราได้ เรารู้สถานการณ์ ว่าเราต้องการจริงๆ หรือจำเป็นต้องมี การซื่อสัตย์ในเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องได้หรือครอบครองสิ่งนั้น แต่ว่าเราเป็นเจ้าของแรงจูงใจของเราเอง นี่เป็นสิ่งสำคัญเพราเราจะได้มีแผนเพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ การบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ” หรือ“นี่คือสิ่งจำเป็นของฉัน” ทำให้คนอื่นสามารถตอบสนองเราได้

ในครอบครัวเรา ทุกคนมีสิ่งที่อยากได้ หรือ สิ่งจำเป็น เราจะหาทางช่วยเหลือคนอื่นๆได้ เราเรียกสถานการณ์นี้ว่า win-win situation ชนะทั้งคู่ นี่ก็ยากที่จะทำสำเร็จเหมือนกัน แต่ว่า ก็เป็นไปได้ นี่ทำให้การไว้วางใจ และความขึ้นอยู่กับกันและกันในครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญมาก อาจเริ่มต้นจากคุณ ยอมปล่อยให้ตนเองบอบบาง ทำงานผ่านขบวนการนี้ ผมเชื่อว่าคุณจะปล่อยอดีตให้ผ่านไปได้ และอนาคตจะเป็นสิ่งที่คุณเฝ้ารอคอย




[1] บทความนี้เขียนสำหรับลงในวารสาร “เพื่อนรักษ์สุขภาพจิต” ของสมาคมสายใยครอบครัว  ปีที่ 11 ฉบับที่ 43  เมย.-มิย. 2554, หน้า 27-29.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้