1030 จำนวนผู้เข้าชม |
สรุปจากการอ่าน “ค่านิยมทวนกระแส”
"Christian counter-culture" by John R. W. Stott by Inter-Varsity Press, 1995.
โดย ขวัญใจ บุญศิริรัตน์โชค
แปลโดย สถาพร พาชีรัตน์
คำเทศนาบนภูเขาคืออะไร (มธ.5.1-2)
คำเทศนาบนภูเขาเป็นคำอธิบายของพระเยซูคริสต์ที่ว่าสาวกของพระองค์ต้องมีลักษณะและควรประพฤติอย่างไร ซึ่งปรากฏในช่วงแรกของการปฏิบัติพระราชกิจของพระเยซูด้วยน้ำเสียงที่เร่งเร้า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจอย่างสิ้นเชิง และความชอบธรรมในแผ่นดินพระเจ้า พวกเขาจะต้องไม่ทำตามคนอื่นแต่เรียนรู้จากพระองค์เท่านั้น (มธ.6.8) ต้องแตกต่างจากที่โลกนิยมชมชอบอย่างสิ้นเชิง ทุกตอนในคำเทศนาบนภูเขาเปรียบเทียบความแตกต่างมาตรฐานของ คริสเตียนกับของคนที่ไม่เป็นคริสเตียน “ค่านิยมทวนกระแส” ของคริสเตียนคือลักษณะการดำเนิน ชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ แต่ดำเนินอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า
การจะเปิดใจรับคำสอนของคำเทศนาบนภูเขาได้ ต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
1. คำเทศนาบนภูเขาเป็นคำตรัสของพระเยซูจริงหรือไม่?
ทั้งมัทธิวและลูกาได้กล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของคำเทศนานี้ตรงกัน ทั้งคู่คงบันทึกคำสอนหลายครั้งของพระเยซูในช่วงที่อยู่บนภูเขาแบบย่อๆ (ผู้เป็นสุข ใน ลก.6.20-7.1 และ มธ.5-7)
2. เนื้อหาคำเทศนาบนภูเขาเกี่ยวข้องกับชีวิตในปัจจุบันหรือไม่?
คำสอนนี้กล่าวถึงลักษณะและความประพฤติของประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า ซึ่งทำให้เราเห็นถึงพระลักษณะภายในของพระเยซูและชีวิตส่วนตัวกับพระบิดา เห็นถึงชีวิตในสังคมที่เกี่ยวข้องกับฝูงชน การแสดงความเมตตา การสร้างสันติ การถูกข่มเหง การสำแดงความเป็นเกลือและความสว่าง การรักและรับใช้ผู้อื่น (รวมทั้งศัตรู) และการอุทิศชีวิตให้กับการขยายแผ่นดินและความชอบธรรมของพระเจ้า เนื้อหาของคำเทศนาบนภูเขาจึงชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในศตวรรษนี้ด้วย
3. เราสามารถไปถึงมาตรฐานของคำสอนนี้ได้หรือไม่?
การกล่าวว่าทุกคนสามารถทำได้เป็นการมองข้ามความบาปของมนุษย์ และการกล่าวว่าไม่มีใครทำได้เลยเป็นการมองข้ามพระประสงค์ของพระเยซูในการสอนคำเทศนานี้ แต่ผู้ที่จะปฏิบัติตามได้จำเป็นต้องบังเกิดใหม่เพราะความชอบธรรมที่พระเยซูกล่าวถึงเป็นความชอบธรรมจากภายใน ดังนั้นมาตรฐานอันสูงส่งนี้จึงเหมาะสมกับฐานะพิเศษของสาวกพระเยซู แท้จริงเราไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงส่งของพระคริสต์ได้ แต่การไปให้ถึงหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานนั้นจะแสดงถึงพระคุณของพระเจ้าที่มีต่อเราอย่างเหลือล้น และชีวิตนิรันดร์ที่ทรงประทานให้
คุณสมบัติของคริสเตียน : ผู้เป็นสุข (มธ.5.3-12)
คำสอนนี้กล่าวถึงคุณสมบัติทั้ง 8 ประการที่พระวิญญาณต้องการสร้างขึ้นในคริสเตียนทุกคน จึงเป็นความรับผิดชอบที่เราจะแสวง หาคุณสมบัติเหล่านี้ คำสอนนี้ยกย่องคนที่ตระหนักถึงความบกพร่องฝ่ายวิญญาณและหิวกระหายความชอบธรรม ความสุขที่พระองค์พูดถึงนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขารู้สึกแต่เป็นความคิดของพระเจ้าที่ทรงมีต่อพวกเขาและสภาพที่พวกเขาเป็นอยู่คือเป็นผู้ที่ได้รับพระพร เช่นเดียวกับที่ต้องมีคุณสมบัติทั้ง 8 คริสเตียนทุกคนจะได้รับพรทั้ง 8 ประการโดยไม่แบ่งแยกเช่นกัน อันเป็นพรสำหรับปัจจุบันและอนาคต
พระประสงค์ของพระเจ้าในคำสอนเรื่องผู้เป็นสุข และการเน้นถึงความชอบธรรมในคำเทศนาบนภูเขา
1. เพื่อทำให้คนที่ไม่เป็นคริสเตียน ตระหนักว่าเขาต้องเข้ามาพึ่งพระคริสต์เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชอบธรรม
2. เพื่อช่วยให้คริสเตียนที่ถือตัวว่าเป็นผู้ชอบธรรมแล้วรู้ว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
คำเทศนาบนภูเขาจึงทำให้เราตระหนักถึงความผิดบาปของเรา และทำให้การยกโทษความผิดบาปโดยทางพระคริสต์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และบรรยายว่าผู้ที่บังเกิดใหม่แล้วมีลักษณะอย่างไร โดยที่คำสอนสี่ประการแรกเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคริสเตียนกับพระเจ้า และสี่ประการหลังเป็นเรื่องความสัมพันธ์และหน้าที่ของคริสเตียนต่อเพื่อนมนุษย์
1. ความยากจน (รู้สึกบกพร่อง) ฝ่ายวิญญาณ คือ การตระหนักว่าตนเองไม่มีความดีอะไรเลย การยอมรับว่าเป็นคนบาปอยู่ภายใต้พระพิโรธและไม่สมควรได้รับสิ่งใดนอกจากการพิพากษา เข้ามาพึ่งในพระเมตตาของพระเจ้า แล้วแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนดังกล่าวนี้เท่านั้น
2. บุคคลที่โศกเศร้า การยอมรับความบกพร่องฝ่ายวิญญาณหรือการยอมสารภาพ เป็นพระพรขั้นแรก แต่ความรู้สึกโศกเศร้าในความบกพร่องหรือบาปเป็นพระพรขั้นที่สูงขึ้นไป เราไม่ควรร้องไห้เพราะบาปของคนอื่นเท่านั้น แต่ควรร้องไห้เพราะบาปของตนเองด้วย
3. บุคคลที่มีใจอ่อนโยน คือ ความถ่อมใจและมีความอ่อนโยนต่อผู้อื่น มาจากการประเมินตนเองอย่างถูกต้อง การเข้าสู่แผ่นดินพระเจ้านั้นไม่ใช่ด้วยกำลังแต่ด้วยความอ่อนสุภาพ
4. บุคคลที่หิวกระหายความชอบธรรม คริสเตียนไม่เหมือนคนต่างชาติที่หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาทรัพย์สมบัติ แต่มุ่งแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรม ของพระองค์ก่อนสิ่งใดคือ
ก. ความชอบธรรมด้านนิติบัญญัติ คือถูกตัดสินว่าเป็นคนชอบธรรม (มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า)
ข. ความชอบธรรมด้านจริยธรรม คือบุคลิกลักษณะและความประพฤติอันชอบธรรมที่พระเจ้าพอพระทัย
ค. ความชอบธรรมด้านสังคม คือการมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับเพื่อนมนุษย์ เป็นความชอบธรรมที่ทำให้เกิดความผาสุกในสังคม
ผู้ที่เป็นสาวกของพระเยซูต้องหิวกระหายความชอบธรรมตลอดเวลา จนกว่าจะไปถึงสวรรค์ (วว.7.16,17) และเรายังหิวกระหายชัยชนะของความชอบธรรมในวันสุดท้าย (2 ปต.3.13)
สี่ประการสุดท้าย ของคำสอนเรื่องผู้เป็นสุข เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์
5. บุคคลที่มีใจกรุณา ความกรุณาคือ ความเมตตาต่อผู้ที่ทุกข์ยาก การแสดงความเมตตาต่อผู้อื่นกับการได้รับความเมตตาจากพระเจ้าเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ผู้มีใจอ่อนโยนที่ยอมรับว่าตนเป็นคนบาปจึงแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเพราะเห็นเป็นคนบาปที่บกพร่องมากมายเช่นกัน
6. บุคคลที่มีใจบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ใจคือความจริงใจ ชีวิตของเขาไม่มีอะไรที่ต้องปิดบังพระเจ้าและมนุษย์ไม่ว่าอยู่ตามลำพังหรือต่อหน้าคนอื่น ผู้ที่มีใจบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะเห็นพระเจ้า เพราะ ว่าผู้ที่มีความจริงใจอย่างแท้จริงเท่านั้นที่สามารถทนต่อแสงสว่างอันเจิดจ้าแห่งพระสิริพระเจ้าได้
7. บุคคลที่สร้างสันติ สันติหมายถึงการคืนดีกัน พระเจ้าเป็นแหล่งแห่งสันติและการคืนดี พรสำหรับผู้สร้างสันติคือพระเจ้าทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตรเพราะเขาทำสิ่งที่พระบิดาได้ทำผ่านพระบุตร
8. บุคคลที่ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม พระเยซูต้องการให้สาวก ชื่นชมยินดี เมื่อถูกข่มเหง เพราะบำเหน็จของเรามีบริบูรณ์ในสวรรค์ การข่มเหงเป็นสิ่งยืนยันความเป็นคริสเตียนแท้
ค่านิยมทวนกระแสที่พระคริสต์สอนนั้นสวนทางกับค่านิยมของโลกนี้ พระเยซูเรียกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่โลกนี้ดูหมิ่นและรังเกียจว่าเป็น.. ผู้ที่เป็นสุข
อิทธิพลของคริสเตียน : เป็นเกลือ และ แสงสว่าง (มธ.5.13-16)
คริสตจักรและโลกนี้แม้จะมีความสัมพันธ์กัน ทว่าความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดผลอันดีนั้นขึ้น อยู่กับการคงไว้ซึ่งความแตกต่างระหว่างคริสตจักรและโลก พระเยซูทรงเปรียบเทียบคริสเตียนว่าเป็นเกลือและความสว่างของโลก
**ด้านที่สอง ในคำพยากรณ์ที่เล็งถึงอนาคตและการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์
***ด้านที่สามจริยธรรม พระเยซูทรงทำให้สมบูรณ์ในแง่ของการเชื่อฟังธรรมบัญญัติ คริสเตียนได้รับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณให้สามารถเชื่อฟังธรรมบัญญัติได้ เราเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าไม่ขึ้นกับการรักษาบัญญัติแต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อในพระคริสต์
2. คริสเตียนและธรรมบัญญัติ (5.19,20) ขณะที่ฟาริสีพอใจกับการเชื่อฟังที่เป็นพฤติกรรมภายนอกและเป็นพิธีกรรม แต่พระเยซูชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าเรียกร้องความชอบธรรมภายในจิตใจและเจตนา พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการตีความธรรมบัญญัติของฟาริสี และสอนให้พวกสาวกน้อมรับมาตรฐานอันสูงส่งของความหมายที่แท้จริงของธรรมบัญญัติด้วย
ความชอบธรรมของคริสเตียน : หลีกเลี่ยงความโกรธ และราคะตัณหา (มธ.5.21-30)
1. หลีกเลี่ยงความโกรธ ความโกรธไม่ใช่บาปในทุกกรณี มีความโกรธที่ชอบธรรม และความโกรธที่อธรรมเป็นความโกรธที่มาจากความเย่อหยิ่ง หลงตัวเอง เกลียดชัง มุ่งร้าย อาฆาต พระเยซูเตือนว่าความโกรธและการพูดดูหมิ่นเป็นการฆาตกรรมและมีโทษถึงไฟนรก ดังนั้นทันทีที่ตระหนักว่ามีเรื่องขัดเคืองใจกับผู้อื่นเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มที่จะคืนดีโดยการขอโทษ หรือแก้ไขในสิ่งที่เราต้องแก้ไข เราต้องพยายามที่จะอยู่อย่างสงบและสำแดงความรักแก่ทุกคน
2. หลีกเลี่ยงราคะตัณหา การกระทำหรือความสัมพันธ์ทางเพศใดๆ ที่เป็นความบาป ก็ถือเป็นบาปทั้งในการมองและในความคิด การเรียนรู้ที่จะควบคุมตาและจินตนาการก็จะรู้จักบังคับตนในเรื่องเพศได้ พระเยซูสอนให้ปฏิเสธความบาปอย่างเด็ดขาด “ตายต่อบาป” เพื่อเราจะดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ หลักการของพระองค์คือ สิ่งที่ดำรงอยู่ถาวรนิรันดร์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งที่อยู่เพียงชั่วคราว
ความชอบธรรมของคริสเตียน : ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรส และ ซื่อตรงในคำพูด (มธ.5.31-37)
1. ความซื่อสัตย์ในชีวิตสมรส พวกฟาริสีเน้นที่เหตุผลสำหรับการหย่าแต่พระเยซูเน้นที่คุณค่าของสถาบันครอบครัว พวกฟาริสีว่าการทำหนังสือหย่าให้ภรรยาเป็นคำสั่งของโมเสสแต่พระเยซูว่าเป็นการยอมเพราะมนุษย์ใจแข็งกระด้าง พวกฟาริสีเห็นเรื่องการหย่าเป็นเรื่องธรรมดาแต่พระเยซูเห็นเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากถึงขนาดที่พระองค์เรียกการแต่งงานใหม่หลังการหย่าว่าเป็นการล่วงประเวณีโดยมีข้อยกเว้นเพียงกรณีเดียวเท่านั้น คือการมีชู้ การหย่าจึงเป็นความเบี่ยงเบนจากพระประสงค์และการทรงเรียกของพระเจ้าที่น่าสลดใจที่สุด
2. ความซื่อตรงในคำพูด สิ่งที่ธรรมบัญญัติสอนคือเราต้องเป็นคนที่รักษาสัญญาและคำพูด สิ่งที่พระเยซูสอนคือคนที่ซื่อตรงไม่จำเป็นต้องสาบาน แต่ถ้าผู้มีอำนาจต้องการให้สาบาน พวกเขาก็ต้องไม่ปฏิเสธ คริสเตียนควรพูดอย่างตรงไปตรงมาให้ชัดเจนและกระชับ
ความชอบธรรมของคริสเตียน : ไม่แก้แค้น และ รักที่จะกระทำคุณให้ (มธ.5.38-48)
พระเยซูสอนสาวกให้อย่าต่อสู้คนชั่วและรักศัตรูเป็นจุดสูงสุดของคำเทศนาบนภูเขา การท้าทายซึ่งสำแดงค่านิยมทวนกระแสของคริสเตียนอย่างเด่นชัดที่สุด ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างมากที่สุด
ศาสนกิจของคริสเตียน : ไม่ใช่การแสดงแต่เป็นความจริง (มธ.6.1-6)
พระเยซูสั่งให้เราส่องสว่างแก่คนทั้งปวง และให้ระวังที่จะไม่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออวดคนอื่นเพราะความลุ่มหลงในลาภยศของเรา ตัวอย่างความชอบธรรมในการปฏิบัติศาสนกิจสามประการ
1. การทำทานของคริสเตียน สิ่งที่ใจคิดอยู่ขณะที่มือทำทานคือ แสวงหาการสรรเสริญของมนุษย์ หรือแม้ทำทานโดยไม่เปิดเผยชื่อแต่ชื่นชมกับตนเอง หรือแสวงหาความพอพระทัยของพระบิดาในสวรรค์เท่านั้น พระเยซูชี้ให้เห็นความโง่เขลาในการทำทานเพื่อโอ้อวดสาธารณชน “หน้าซื่อใจคด” ว่าเขาได้รับเหน็จของเขาแล้วในวันสุดท้ายเขาจะไม่ได้อะไรอีกนอกจากคำพิพากษา การทำทานของคริสเตียนจะต้องไม่ทำทานเพื่ออวดคนอื่น หรือเพื่อตนเอง แต่ทำทานจำเพาะพระเจ้าผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับและประทานบำเหน็จแก่เราที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ”
2. การอธิษฐานของคริสเตียน พระเยซูเน้นถึงเจตนาบริสุทธิ์ในการอธิษฐาน เช่นเดียวกับการทำทานที่ต้องออกมาจากความรักที่แท้จริงต่อผู้อื่น การอธิษฐานต้องออกมาจากความรักที่แท้ จริงต่อพระเจ้า เราต้องไม่ปฏิบัติศาสนกิจประการหนึ่งประการใดเป็นเครื่องมือโอ้อวดตัวของเรา
3. การถืออดอาหารของคริสเตียน เป็นการปฏิเสธตนเองและฝึกวินัยตนเอง ถือว่าเป็นการถ่อมตนเองลงจำเพาะพระเจ้า บางครั้งเป็นการแสดงความสำนึกบาปและกลับใจหรือในกรณีพิเศษที่ต้องการแสวงหาการทรงนำหรือการอวยพรจากพระเจ้า อีกเหตุผลหนึ่งคือการตั้งใจไม่บริโภคเพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ขัดสน (แสดงความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ที่อดอยากหิวโหย) พระเยซูถือว่าการอดอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสเตียน และเช่นเดียวกับการทำทาน และการอธิษฐาน พระองค์เป็นห่วงที่จะให้เราถืออดอาหารโดยไม่เรียกร้องความสนใจมาที่ตัวเราอย่างคนหน้าซื่อใจคดกระทำ
การอธิษฐาน คือการแสวงหาพระเจ้า การทำทานคือการรับใช้ผู้อื่น และการถืออดอาหารคือการฝึกวินัยตนเอง สำหรับคนหน้าซื่อใจคดปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้คนเห็น แต่คริสเตียนที่แท้จริงตระหนักถึงการสถิตอยู่ด้วยของพระองค์เท่านั้น
คำอธิษฐานของคริสเตียน : ไม่ซ้ำซากแต่ลึกซึ้ง (มธ.6.7-15)
การอธิษฐานที่แท้จริงไม่ใช่การพูดมากแบบไร้สาระ ไม่ใช่การยกย่องตนเองแต่เป็นการร่วมสามัคคีธรรมกับพระบิดาในสวรรค์ คำอธิษฐานตามแบบพระเยซูภาคแรกเกี่ยวกับพระสิริของพระเจ้า ภาคที่สองเกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นของมนุษย์ มีลักษณะเหมือนบัญญัติ 10 ประการ ส่วนแรกกล่าวถึงหน้าที่ของเราต่อพระเจ้าและส่วนที่สองกล่าวถึงหน้าที่ของเราต่อเพื่อนบ้าน หากอธิษฐานด้วยความจริงใจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เพราะบอกถึงการจัดลำดับความ สำคัญในชีวิต
ความแตกต่างระหว่างการอธิษฐานนั้น อยู่ที่พื้นฐานของความเข้าใจในพระลักษณะของพระเจ้าที่แตกต่างกัน คนหน้าซื่อใจคดคิดถึงแต่ตนเอง คนไม่รู้จักพระเจ้าคิดถึงแต่สิ่งอื่นๆ แต่เราที่เป็นบุตรของพระเจ้าจะระลึกถึงพระลักษณะของพระเจ้าตลอดจนฝึกที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ จะไม่อธิษฐานอย่างเสแสร้งแต่ด้วยความจริงใจ จะไม่อธิษฐานแบบนกแก้วนกขุนทองแต่ด้วยความ คิดและจิตใจ
ความทะเยอทะยานของคริสเตียน : มิใช่มั่นคงทางวัตถุแต่ครอบครองโดยพระเจ้า (มธ.6.19-34)
* เรื่องทรัพย์สมบัติ พระเยซูห้ามการสะสมทรัพย์สมบัติในโลกอย่างเห็นแก่ตัวหรือมีใจโลภ แต่ให้สะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์ คือการพัฒนาชีวิตของเราให้เติบโตขึ้นในความเชื่อ ความหวัง ความรัก ความรู้ของพระคริสต์ ความกระตือรือร้นในการอธิษฐานและการเป็นพยานนำคนมารู้จักพระคริสต์เพื่อเขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์ และการใช้เงินเพื่อพระราชกิจของพระคริสต์ซึ่งเป็นการลงทุนแบบเดียวที่ผลตอบแทนดำรงอยู่ตลอดนิรันดร์
*เรื่องของตา บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ที่ตากับใจเป็นสิ่งเดียวกัน ความทะเยอทะยานของเรา(สิ่งที่เราหมายตา และสิ่งที่ใจมุ่งมั่น) มีผลต่อชีวิตทั้งหมดของเรา ความทะเยอทะยานที่ไร้คุณธรรมและเห็นแก่ตัวย่อมทำให้ชีวิตตกอยู่ในความมืดฝ่ายจิตวิญญาณ แต่ตาที่ดีคือ จิตใจที่โอบอ้อมอารี การสะสมทรัพย์สมบัตืในสวรรค์ทำให้เรามีสายตาฝ่ายจิตวิญญาณที่ดีเพื่อการดำเนินชีวิตในโลกนี้
* เรื่องของคุณค่า เราจะรับใช้นายคนไหนระหว่างพระเจ้าที่เลิศประเสริฐกับเงินทองซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้มีค่าอะไรในตัวของมันเองเลย เราจะปรนนิบัติพระเจ้าได้เมื่อเรามอบความจงรัก ภักดีทั้งหมดให้แก่พระองค์แต่ผู้เดียว
*เรื่องความทะเยอทะยาน
ก.ในทางที่ผิดหรือทางโลก : ความมั่นคงทางวัตถุสำหรับตนเอง ความกระวนกระวายไม่สอดคล้องกับความเชื่อของคริสเตียนที่ควรวางใจในพระเจ้า แต่ความเชื่อในเรื่องการวางใจนั้นคริสเตียนไม่ได้รับการยกเว้นจากการทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้รับการยกเว้นจากการดูแลผู้ที่ขัดสน และไม่ได้รับการยกเว้นจากความทุกข์ยากลำบาก แต่ คริสเตียนเป็นอิสระและได้รับการยกเว้นจากความกระวนกระวาย เพราะเป็นสิ่งโง่เขลาและไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึก เนื่องจากความกระวนกระวายส่วนใหญ่มักเป็นเพียงจินตนาการและมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ข. ความทะเยอทะยานที่ถูกต้อง(ของคริสเตียน) : การครอบครองและความชอบธรรมของพระเจ้า การแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนคือ ความรับผิดขอบของคริสเตียนในการประกาศข่าวประเสริฐ และการช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานที่มีจุดหมายอยู่ที่สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือพระสิริของพระเจ้าเป็นสิ่งดีสูงสุดที่เราต้องแสวงหาก่อนสิ่งใด
ความสัมพันธ์ของคริสเตียนกับพี่น้องและกับพระบิดา (มธ.7.1-12)
1. ท่าทีของเราต่อพี่น้อง เราต้องไม่ทำตัวเป็นผู้พิพากษาที่คอยจับผิดเพื่อตำหนิอย่างไร้เมตตาหรือเป็นคนหน้าซื่อใจคดที่กล่าวหาผู้อื่นแต่มองข้ามความผิดของตนเอง แต่ต้องห่วงใยผู้อื่นโดยเสาะหาและแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองก่อนเพื่อเราจะสามารถช่วยพี่น้องอย่างสร้างสรรค์
2. ท่าทีของเราต่อ “สุนัข” และ “สุกร” เราต้องประกาศข่าวประเสริฐโดยรู้จักแยกแยะผู้ฟัง ต้องไม่เสนอข่าวประเสริฐแก่คนที่หันหลังให้กับพระคริสต์อย่างสิ้นเชิง เขาจะเหยียดหยามข่าวประเสริฐเพราะไม่รู้จักคุณค่า
3. ท่าทีของเราต่อพระบิดาในสวรรค์ พระเยซูหนุนใจให้เราอธิษฐานด้วยความมั่นใจและกล้าหาญ เพื่อขจัดความขลาดกลัวและความสงสัยโดยสัญญาว่าจะตอบคำอธิษฐานแน่นอน แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งที่ขอนั้นสอดคล้องกับน้ำพระทัยพระเจ้าหรือไม่ เราต้องเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงสามารถประทานให้ และต้องมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะได้รับ แล้วพระสัญญานี้จะสำเร็จแน่นอน
4. ท่าทีของเราต่อมนุษย์ทั้งปวง (12) คือปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ตัวเราเองอยากได้เป็นหลักสากลที่ใช้ควบคุมความประพฤติของเราต่อทุกคน บัญญัติทองของพระเยซูนี้ช่วยเราไม่ให้มีใจคับแคบแต่มีใจกว้างขวาง ไม่ตำหนิแต่เห็นใจ ไม่ก้าวร้าวแต่อ่อนโยน
ความสัมพันธ์ของคริสเตียนกับผู้เผยพระวจนะเท็จ (มธ.7.13-20)
1. การเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ (13-14) พระเยซูสอนว่ามีทางเพียงสองทาง มีประตูเพียงสองประตู มีกลุ่มคนเพียงสองกลุ่ม และมีปลายทางเพียงสองแห่ง มนุษย์อาจไม่ชอบที่ต้องเลือกเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด แต่พระเยซูสอนว่านี่เป็นการเลือกที่เลี่ยงไม่ได้
2. อันตรายของผู้สอนเทียมเท็จ (15-20) ในฐานะผู้อารักขาสัจธรรมที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่มนุษย์เราต้องปฏิบัติตามคำเตือนของพระเยซูให้ระวังผู้เผยพระวจนะเท็จที่จะบิดเบือนสัจธรรมและทำลายฝูงแกะของพระคริสต์ โดยตรวจสอบทั้งความประพฤติและคำสอนของผู้ที่จะเข้ามาสอนในคริสตจักรว่าสอดคล้องกับพระคัมภีร์หรือไม่
ความมุ่งมั่นของคริสเตียน : การตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยว (มธ.7.21-27)
1. อันตรายของการยอมรับเพียงด้วยปาก (21-23) คริสเตียนต้องตระหนักว่าการออกพระนามของพระเยซูในการทำสิ่งต่างๆนั้นไม่เพียงพอ แต่เราต้องเชื่อฟังพระองค์ในชีวิตทั้งหมดของเรา
2. อันตรายของการได้ยินเพียงด้วยหู (24-27) สิ่งที่พระเยซูเน้นคือคนที่ได้ฟังข่าวประเสริฐและเชื่ออย่างแท้จริงแล้ว จะต้องรับผิดชอบที่จะประพฤติตามคำสอนของพระองค์ในชีวิต
บทสรุป : นักเทศน์ผู้นี้คือใคร (มธ.7.28,29)
“สิทธิอำนาจ” ของพระเยซูในการสอนคำเทศนาบนภูเขาตั้งอยู่บนพื้นฐาน และข้อมูลที่บ่ง ชี้ว่าพระเยซูเข้าใจเกี่ยวกับสถานภาพและพระราชกิจของพระองค์เองในโลกนี้ในฐานะต่างๆ ดังนี้
- ครู พระองค์มั่นใจว่าคำสอนของพระองค์เป็นความจริง จึงตรัสว่าสติปัญญาของแต่ละคนจะถูกประเมินจากปฏิกิริยาของเขาที่มีต่อคำสอนของพระองค์
- พระคริสต์ เวลาแห่งการรอคอยได้จบลงแล้ว พระองค์เสด็จมากระทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์ พระองค์มีสิทธิ์ขาดที่จะรับคนเข้าแผ่นดินและประทานพระพรของแผ่นดินของพระเจ้า
- องค์พระผู้เป็นเจ้า สาวกไม่เพียงต้องเรียนรู้สิ่งที่พระองค์สอนแต่ต้องยอมจำนนชีวิตต่อพระองค์ด้วย ไม่เพียงถ่ายทอดคำสอนแต่ต้องเป็นพยานว่าพระองค์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า
- พระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ไม่เพียงแต่สอนให้มนุษย์รู้ทางแห่งความรอดแต่ทรงเป็นผู้ประทานความรอดแก่มนุษย์ ทรงประทานพรและนำแผ่นดินของพระเจ้ามาถึงชีวิตมนุษย์
- ผู้พิพากษา พระองค์ทรงให้เกณฑ์ในการพิพากษาคือ ท่าทีของมนุษย์ต่อพระเยซู และโทษของการพิพากษาคือ การถูกตัดขาดจากพระองค์ตลอดนิรันดร์
- พระบุตรของพระเจ้า ทรงตระหนักว่าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้าในลักษณะที่แตกต่างจากพวกสาวกด้วยสรรพนาม พระบิดาของเรา,พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย,พระบิดาของท่าน
- พระเจ้า ทรงเปรียบเทียบและแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีศักดิ์ศรีและเกียรติเท่าเทียมกับพระเจ้า การเชื่อฟังพระองค์และเชื่อฟังพระเจ้าคือสิ่งเดียวกัน พระองค์คือผู้พิพากษาซึ่งยืนยันว่าพระองค์คือพระเจ้า สิ่งที่พระองค์กระทำคือสิ่งที่พระเจ้ากระทำ สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อพระองค์คือสิ่งที่พวกเขากระทำต่อพระเจ้า