1905 จำนวนผู้เข้าชม |
ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผมเป็นกรรมการค่ายอนุชนอาชีพที่ คริสตจักรไมตรีจิต (คาเลบ) ปีหนึ่ง ในคืนที่เรากำลังจะออกเดินทางเกิดเรื่องไม่คาดคิดคือที่พักที่เราจองไว้ถูกยกเลิกกระทันหัน เราเลยใช้เวลาแค่สองชั่วโมงในการติดต่อที่พักใหม่โดยได้อาศัยโรงเรียนสามมุกช่วยไว้ด้วย “เส้น” อาจารย์ดิ๊ก เราไปค่ายในสถานที่ใหม่ที่ไม่ได้วางแผนไว้ทั้งทางเราและทางโรงเรียน เมื่อไปถึงสามมุกอาจารย์ดิ๊กได้มาต้อนรับสมาชิกค่ายลงจากรถ และโดยไม่คาดคิดอาจารย์ดิ๊กวิ่งหายไปและกลับมาพร้อมกับเข็นรถไม้เก่าๆ คล้ายๆ เกวียนเพื่อมาขนกระเป๋าพวกเรา ผมมองดูอาจารย์ (ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน) แล้วรู้ว่าการกระทำของเขามีพลังมากกว่าคำเทศนาของเขาเยอะเลย...
พระคัมภีร์ไม่ได้ให้ความหมายกับเราโดยตรงว่า “ความถ่อมใจ” คืออะไร แต่ให้ต้นแบบที่ทรงพลังที่สุดในเรื่องความถ่อมใจจากลักษณะของพระเจ้าพระบิดา (สดด.113:5-6) และ พระบุตร (ฟป.2:8) จากต้นแบบทั้งสองพอจะเห็นแบบอย่างของคนที่ ละทิ้งฐานะ ตำแหน่ง อำนาจของตนเองเพื่อลงมาคลุกคลี และช่วยเหลือคนที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า
คนสองคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์คือ โมเสส และ พระเยซู มีลักษณะร่วมกันคือ “ความถ่อมใจ” นี้ (กดว.12:3, มธ.11:29) คนที่เย่อหยิ่งจองหองจะ “เจอดี” (จริงๆ แล้วคือเจอร้าย) จากพระเจ้าเสมอ เช่น กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์, ลูกชายกษัตริย์เบลชัสซาร์ (ดนล.บทที่ 4-5), หรือเฮโรดในพระคัมภีร์ใหม่ (กจ.12:23) ในหนังสือ “พระเยซูที่ฉันไม่เคยรู้จัก” ฟิลิป ยานซี ให้ภาพเปรียบเทียบที่แหลมคมมากระหว่าง นางเอวา ที่เป็นคนอยู่ดีๆ แต่ “เย่อหยิ่ง” อยากเป็นเหมือนพระเจ้า กับ พระเยซูที่เป็นพระเจ้าดีๆ แต่กลับ “ถ่อมใจ” มาบังเกิดเป็นมนุษย์ คนแรกเลยนำความพินาศย่อยยับมาสู่มนุษย์ทั้งหลาย ในขณะที่คนหลังนำพระพรมาสู่พวกเราทั้งปวง (เปรียบเทียบ รม.5:12-21) อ.เปาโล ให้ภาพเพิ่มเติมกับเราว่า “ความถ่อมใจ” นี้เองเป็นที่มาของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่คริสเตียน (อฟ.4:2)
เมื่อเรา “ถ่อมใจ” เราเป็น “อิสระ” แท้จาก “หัวโขน” ต่างๆ ที่สังคมใส่ให้ หรือ ที่เราใส่ให้ตัวเอง เราจะเป็นคนที่ดำเนินชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถตอบสนองความต้องการของพระเจ้าและคนรอบข้างได้ด้วยความเข้าใจและความสุขใจ มีความพึงพอใจในตัวเองอย่างเต็มที่ และไว้วางใจว่าเกียรติและความช่วยกู้มาจากพระเจ้า ไม่จำเป็นต้อง “ทำ”, “โชว์”, หรือ “แข่งขัน” เพื่อให้คนอื่นประทับใจ และ ให้ “ตัวเอง” เกิดความมั่นใจ ไม่น่าแปลกใจที่มีคำกล่าวว่า “ความถ่อมใจเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมทั้งปวง”
ผู้เขียน : ธานินทร์ วรวิจิตราพันธ์